วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ราชครูโนราและครูหมอโนรา

 
ราชครูโนราและครูหมอโนรา
                      สังคมไทยนั้นให้ความสำคัญกับครูมาตั้งแต่โบราณ เพราะเชื่อกันว่าครูคือผู้ที่ช่วยประสิทธิ์ประสาทความรู้ สร้างคนให้เป็นคน มีบุญคุณเป็นอันดับรองต่อจากบิดามารดา ศาสตร์ทุกศาสตร์จึงมีพิธีกรรมเกี่ยวกับการไหว้ครู เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการกตัญญูรู้คุณ ไม่ว่าจะเป็นสังคมโรงเรียนที่มีการไหว้ครู ทุกๆที่  โขนละครก็เป็นนาฏศาสตร์ที่มีพิธีการไหว้ครูที่เกี่ยวเนื่องกับมหาเทพ และมีสถาบันคนชั้นฟ้าที่เราหวงแหนมาร่วมพิธี เพราะได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการไหว้ครูในพิธีนี้

  (รูปพิธีเชื้อครูหมอโนรา)
                      สังคมชาวใต้ก็เช่นกันครับ จะมีการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ เรียกว่า ครูหมอ  ในพื้นที่ ๑๔ จังหวัดจะมีการนับถือครูหมอ มีให้เห็นอยู่โดยทั่วไป ครูหมอ ที่ดูจะโดดเด่นที่สุดคือ ครูหมอมโนรา เพราะนี่เป็นศาสตร์แห่งแผ่นดินของชาวใต้ อีกทั้งคนที่มีเชื้อสายมโนราจะรู้กันดีว่า ครูหมอมโนรานั้นมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหนือคำว่าวิทยาศาสตร์อยู่ไม่น้อย
                      มโนราเป็นศาสตร์ แห่งการร่ายรำ การร้องและการรำทำบทเชิงไสยศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตมาตั้งแต่สมัยโบราณ เชื่อกันว่ามโนรานั้นเกิดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเกิดที่แรก แถบลุ่มทะเลสาบสงขลา โดยได้รับอิทธิพลแนวคิดมาจากศาสนาพราหมณ์ ถูกกาลเวลาผสมผสานเอาความเชื่อทางพุทธและความเชื่อดั้งเดิมของชาวใต้มารวมกัน จนตกผลึกทางวัฒนธรรมกลายเป็นความงามที่เชิดชูความเอกลักษณ์และนาฏลักษณ์ใต้

  (บรรดาบรมจารย์ผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมโนรา)
                      ในสมัยกรุงธนบุรี หลังจากกรุงศรีแตก นั้น พระเจ้าตากสินทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของศิลปะการแสดงของบ้านเมือง จึงได้ส่งชาววังมาสืบวัฒนธรรมที่ นครศรีธรรมราช ซึ่งสมัยนั้นเป็นประเทศราชที่ไม่ได้รับความเสียหายจากสงคราม ตอนนั้น ครูโขนที่มาจากรกรุงธนบุรี กับครูมโนราทางใต้ได้ร่วมสอบ ความตรงกันทางด้านวัฒนธรรม จนเสร็จสิ้น ในตำราครูโขนละคร จึงได้น้อมนำเอาครูมโนรามาเป็นตัวแทนครูชาตรี (ละครนอก) ในการครอบครู ที่ได้รับเลือกคือ หัวโขนพ่อแก่ เทริดมโนรา (มงกุฎมโนรา) และหัวโขนพระพิราพ

  (รูปการเชื้อครูหมอโนราหรือตายายโนรา)
                      จากจุดนี้ ทำให้เห็นว่าครูหมอมโนรานั้นมีศักดิ์ที่ใหญ่ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในลำดับรองลงมาจากมหาเทพ อย่างพระอิศวร พระพรหม เป็นต้น หากงานใดไม่มีการนำเทริดมโนรามาร่วมพิธี จะถือว่างานครอบครูนั้นไม่สมบูรณ์ เพราะขาดตัวแทนของครูละครนอก
                      ทำไมวันนี้สังคมชาวใต้ยังคงมีครูหมอ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่เคยเลือนหายไปไหน เพราะชาวใต้รู้ดีว่า หากเพิกเฉย ไม่สนใจ ไม่นับถือ แล้วแรงครู จะทำให้บังเกิดอาถรรพ์ และความเป็นไป ต่างๆ เช่น อยู่ๆก็สามารถทำให้เกิดความเจ็บป่วยที่ศาสตร์การแพทย์ปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายได้ หรือแม้แต่ สามารถทำให้เกิดอาการวิกลจริต แก่สมาชิกครอบครัวได้ แต่เมื่อ ทำพิธีขอขมา และหันมาใส่ใจนับถือ อาเพศหรือเพศภัยเหล่านั้นก็จะหายไป เรื่องราวของความศักดิ์สิทธิ์นี้หากจะเล่ากันคงไม่วันจบสิ้น เพราะครูหมอนั้นสามารถบันดาลให้เกิดเภทภัยได้ ๑๐๘ ประการ พื้นที่ที่มีการนับถือครูหมอมโนราอย่างเข้มแข็งก็ได้แก่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา

  (รูปพิธีเรียกครูหมอโนรามาประทับทรง)
                      แล้วครูหมอนั้นคือใครครูหมอนั้นก็คือ บรรพชนที่เคยมีชีวิตในอดีต แต่เมื่อละสังขารไปแล้ว ยังคงปกปักรักษาลูกหลาน ครูหมอประเภทนี้จะเรียกว่า ตา - ยาย ครูหมอบางประเภทนั้นเป็นครูที่เคยสอนศิลปะใดๆแก่ศิษย์ และศิษย์ก็น้อมมานับถือเมื่อท่านละสังขารไป ครูหมอพวกนี้ได้แก่ ครูหมอมโนรา ครูหมอหนังตะลุง ครูหมอช่างเหล็ก ครูหมอปืน เป็นต้น  นอกจากนี้ยังมีครูหมอที่เกิดจากเรื่องเล่าในตำนานการเกิดมโนรา เหล่านี้จะเรียกว่าราชครูโนรา ได้แก่ พ่อขุนศรัทธา แม่ศรีมาลา แม่ศรีคงคา พ่อเทพสิงหร พระยาสายฟ้าฟาด พระยาโถมน้ำ พระยาลุยไฟ พรานบุญ เป็นต้น ราชครูนั้นคือคนในตำนานที่มียศถาบรรดาศักดิ์นั้นเอง

 (รูปพิธีการลงครูหมอ)
                      ครูหมอนั้นเป็นเหมือนศูนย์รวมความศรัทธาในเครือญาติของชาวใต้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไม คนใต้จะเป็นคนที่มักจะอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มเครือญาติอย่างแน่นแฟ้น ทุกๆสาทเดือนสิบไม่ว่าอยู่ที่ใดก็จะต้องกลับมาบ้านเพื่อเข้าร่วมพิธีเซ่นไหว้ครูหมอ และร่วมทำบุญอุทิศบุญกุศลให้ ครูหมอ ปู่ย่าตายาย ผู้ล่วงลับ  ครูหมอจึงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอานุภาพในการรวมกลุ่มคนของชาวใต้ให้เข้มแข็งและมั่นคง หรืออาจจะเป็นกุศลโลบายของบรรพบุรุษ ที่สืบทอดต่อเนื่องมิให้สายใยเครือญาติต้องขาดหาย ประดุจสังคมยุคปัจจุบัน ที่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ขอขอบคุณที่มาของเนื้อหาจากเว็บไซต์ฅนละคร
ศึกษาโดยโนราบรรดาศักดิ์  พิทักษ์ศิลป์
ขอขอบคุณรูปจากเฟสบุ๊ค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น