วันพุธที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โนรานาฏศิลป์แห่งการรำที่มีเอกลักษณ์มาอย่างยาวนานนับหลายร้อยปี

โนรานาฏศิลป์แห่งการรำที่มีเอกลักษณ์มาอย่างยาวนานนับหลายร้อยปี
                        โนราเป็นนาฏศิลป์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาศิลปะการแสดงของภาคใต้ มีความยั่งยืนมานับเป็นเวลาหลายร้อยปี การแสดงโนราเน้นจะเน้นการร้อง การรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่อง และบางโอกาสมีบางส่วน แสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม 


(ภาพตำนานแห่งนางกินรี/พระสุธน-นางมโนราห์)

                        ต่อมาได้นำเรื่องราวจากวรรณคดีหรือนิทานท้องถิ่นมาใช้ในการแสดงเรื่อง พระสุธนมโนห์รา เป็นเรื่องที่มีอิทธิพลต่อการแสดงมากที่สุดจนเป็นสาเหตุให้เรียกการแสดงนี้ว่า มโนห์รา ส่วนกำเนิดของโนรานั้นสันนิษฐานกันว่าได้รับอิทธิพลจากการร่ายรำของอินเดียโบราณก่อนสมัยศรีวิชัย ที่มาจากพ่อค้าชาวอินเดีย ได้มาากเครื่องดนตรีที่ เรียกว่า เบ็ญจสังคีตซึ่งประกอบโหม่งฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ ใน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโนรา และท่ารำของโนรา ที่มีท่าที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการร่ายรำของทางอินเดีย และโนราเป็นที่นิยมมากขึ้นเมื่อประมาณปี พุทธศักราช 1820 ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยตอนต้น ตามตำนานของชาวใต้เกี่ยวกับกำเนิดของโนรา  มีความเป็นมาหลายตำนานเช่น ตำนานโนรา จังหวัดตรัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง มีความแตกต่างกันตามชื่อที่ปรากฏในเรื่องและเนื้อเรื่องบางตอน ทั้งนี้อาจสืบเนื่องมาจาก ความคิด ความเชื่อ และวิธีสืบทอดที่ต่างกัน จึงทำให้รายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละตำนานแตกต่างกันไป


(ภาพโนราฝาผนังที่วัดมัชฌิมมาวาส จังหวัดสงขลา)
เกี่ยวกับท่ารำโนรา
            ท่ารำโนรามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้ที่ฝึกหัดนาฏศิลป์ของภาคกลางแล้วจะรำท่าของโนราไม่สวย เพราะการทรงตัว ตั้งวงหรือลีลาต่างๆ แตกต่างกันผู้ที่จะรำโนราได้สวยงามจะต้องมีพื้นฐานการทรงตัว ดังนี้
            ช่วงลำตัว จะต้องแอ่นอกอยู่เสมอ หลังจะต้องแอ่นและลำตัวยื่นไปข้างหน้าไม่ว่าจะรำท่าไหนหลังจะต้องมีพื้นฐานการวางตัวเช่นนี้เสมอ
            ช่วงวงหน้า วงหน้า หมายถึง ส่วนลำคอกระทั่งศีรษะ จะต้องเชิด/แหงนขึ้นเล็กน้อยในขณะรำ
            ช่วงหลัง ส่วนก้นจะต้องงอนเล็กน้อย
            การย่อตัว เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง  การรำโนรานั้นลำตัวหรือทุกส่วนจะต้องย่อลงเล็กน้อย  นอกจากย่อลำตัวแล้วเข่าจะต้องย่อลงด้วย

(ภาพหุ่นขี้ผึ้งลูกคู่โนราที่สถาบันทักษิณคดีศึกษา)
เกี่ยวกับเครื่องดนตรีโนรา
          - ทับ (โทนหรือทับโนรา) เป็นคู่เสียงต่างกันเล็กน้อย ทำหน้าที่คุมจังหวะและเป็นตัวนำในการเปลี่ยนจังหวะทำนอง แต่จะต้องเปลี่ยนตามผู้รำไม่ใช่ผู้รำเปลี่ยนจังหวะลีลาตามดนตรี ผู้ทำหน้าที่ตีทับจึงต้องนั่งให้มองเห็นผู้รำตลอดเวลา และต้องรู้เชิง ของผู้รำ
          -  กลอง เป็นกลองทัดขนาดเล็ก ทำหน้าที่เสริมเน้นจังหวะและล้อเสียงทับ
          -  ปี่ เป็นเครื่องเป่าเพียงชิ้นเดียวของวง นิยมใช้ปี่ใน หรือ บางคณะอาจใช้ปี่นอก ใช้เพียง ๑ เลา ปี่มีวิธีเป่าที่คล้ายคลึงกับขลุ่ย ปี่มี ๗ รูแต่สามารถกำเนิดเสียงได้ ถึง ๒๑ เสียงซึ่งคล้ายคลึงกับเสียงพูด มากที่สุด
          -  โหม่ง คือ ฆ้องคู่ต่างกันที่เสียงแหลม เรียกว่า เสียงโหม้งที่เสียงทุ้ม เรียกว่า เสียงหมุ่งหรือ บางครั้งอาจจะเรียกว่าลูกเอกและลูกทุ้มซึ่งมีเสียงแตกต่างกันเป็น คู่แปดแต่ดั้งเดิมแล้วจะใช้คู่ห้า
          -  ฉิ่ง เป็นเครื่องตีเสริมแต่งและเน้นจังหวะ ซึ่งการตีจะแตกต่างกับการตีฉิ่ง ในการกำกับจังหวะของดนตรีไทย
          -  กรับ มี ทั้งกรับอันเดียวที่ใช้ตีกระทบกับรางโหม่ง หรือกรับคู่และมีกรับพวง หรือใช้เรียวไม้หรือลวด เหล็กหลาย ๆ อันมัดเข้าด้วยกันตีให้ปลายกระทบกัน


(ภาพโนราบันเทิง ที่ศูนย์ส่งเสริมภาษาและวัฒนธรรมภาคใต้
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สงขลา)
-------------
ขอขอบคุณที่มาของเนื้อหา  // เว็บไซต์โนราภคใต้
สืบค้นและรวบรวมข้อมูลโดย // โนราบรรดาศักดิ์   พิทักษ์ศิลป์
ศึกษาข้อมูลดังกล่าวเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๖
เอื้อเฟื้อพื้นที่ประกาศ //
http://krunora.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น