วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ศาสตร์แห่งพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์โนราแทงเข้ โรงครูใหญ่



ศาสตร์แห่งพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์
โนราแทงเข้ โรงครูใหญ่

                     การรำแทงเข้ (จระเข้) ใช้รำในพิธีกรรมโรงครูเท่านั้น โดยจะรำหลังจากคล้องหงส์แล้ว ผู้รำมี 7 คน โนราใหญ่รำเป็น นายไกรที่เหลืออีก 6 คน เป็นสหายของนายไกร อุปกรณ์มีเข้(จระเข้) 1 ตัว ทำจากต้นกล้วยพังลา (กล้วยตานี) ต้นโต ๆ ขุดให้ติดเหง้า นำมาแกะสลักส่วนเหง้าให้เป็นหัวเข้ 




                     ขาใช้หยวกกล้วยตัดเป็นรูปขาแล้วใช้ไม้เสียบไว้ หางทำด้วยทางมะพร้าว เมื่อเสร็จแล้วใช้ไม้ขนาด 4 คืบ 4 อันปักเป็นขาหยั่ง เชื่อกันว่าคนที่จะทำตัวจระเข้นั้น จะต้องเป็นผู้มีความรู้ทางเวทย์มนตร์คาถา เพราะหลังจากทำตัวจระเข้เสร็จแล้วจะต้องทำพิธีบรรจุธาตุ เรียกวิญญาณไปใส่ เบิกหูเบิกตา เรียกเจตภูตไปใส่ หากทำไม่ถูกต้อง ก็อาจเป็นเสนียดจัญไรแก่ตนเอง ก่อนนำเข้าพิธี คนทำจระเข้ต้องทำพิธีสังเวยครูด้วยหมากพลู ดอกไม้ธูปเทียน และเหล้าขาว แล้วนำไปวางข้างโรงโนราด้านตะวันตก ให้จระเข้หันหัวไปทางทิศหรดี หากหันหัวไปทางทิศอีสาน โนราจะไม่แทง บนตัว หัว และหางจระเข้ติดเทียนไว้ตลอดด้านหน้าโรงที่จะไปแทงเข้ จะต้องเอาหยวกกล้วยพังลา (กล้วยตานี) 3 ท่อน มาวางไว้เพื่อทำเป็นแพเพื่อให้โนราเหยียบก่อนออกไปแทงเข้ นอกจากนี้มีหอก 7 เล่ม เรียกชื่อต่างกัน เช่น หอกพิชัย กอกระบวย ในตะกง ปานฉนะ เป็นต้น การรำแทงเข้จะเริ่มด้วยโนราใหญ่จุดเทียนตรงบายศรีแลที่ครูแล้วขึ้นบทเพลงโทน (จับบทไกรทอง) เนื้อความเป็นการทำขวัญนายไกร และการละเล่นในพิธีทำขวัญ


                      จากนั้นโนราจะเปลี่ยนเรื่องมาจับเรื่องราว ฝ่ายชาละวันว่า เกิดนิมิตฝนประหลาดจึงต้องไปหาอัยกา ให้เป็นผู้ทำนายฝัน พระอัยกาได้ทำนายฝันให้ว่าเป็นลางร้าย จะต้องถึงแก่ชีวิต จากนั้นดนตรีทำเพลงเชิด โนราว่าบทสัสดีใหญ่ ร่ายรำด้วยท่ารำองอาจสง่างามแล้วออกจากโรงไปแทงเข้ ก่อนออกจากโรงบริกรรมคาถาแทงเข้ โดยเอาหัวแม่เท้ากดพื้นแล้วกล่าวว่า พุทฺธํ ระงับจิต ธมฺมํ ระงับใจ สํฆํ สูไป ตัวสูคือท่าน ตัวกูคือพระกาล ธมฺมํ พุทฺธํ อะระหํ สูอย่าอื้อ บรรดาศัตรู เหยียบดิน กินน้ำ หายใจเข้าออกต้องแสงพระอาทิตย์ พระจันทร์ ทำร้ายแก่ข้าพเจ้าไม่ได้ มีญาเตร จาเม ปวิสติ” 


                     ต่อจากนั้นโนราออกจากโรงใช้เท้าเหยียบแพหยวกแล้วกล่าวบริกรรมคาถาว่า นางณีเจ้าขา ตัวยังหรือไม่ สังขาตั้ง โลกังชา นาติ ติโล กาวิทู ข้าพเจ้าจะออกไป อย่าให้มีภัยอันตราย พุทฺธํ ระงับจิต ธมฺมํ ระงับใจ สํฆํ สูไป ตัวสูคือท่าน ตัวกูคือพระกาล อัมมิพุทธัง อะระหัง สูอย่าอื้อ บรรดาศัตรู เหยียบดินกินน้ำ หายใจเข้าออก ต้องแสงอาทิตย์พระจันทร์ ทำร้ายแก่ข้าพเจ้าไม่ได้ มาอยู่แก่ข้าพเจ้าให้หมดจากนั้นโนราใหญ่ ผู้รำเป็นสหายนายไกร ครูหมอโนราก็ร่ายรำไปยังตัวจระเข้ แล้วโนราใหญ่กล่าวบริกรรมคาถากำกับว่า โอมธรณีสาร กูคือผู้ผลาญอุบาทว์ให้ได้แก่เจ้าไพร จังไหรให้ได้แก่นางธรณี สิทธิได้แก่ตัวกูแล้วจึงใช้หอกแทงเข้ เอาเท้าถีบให้เข้หงายท้องโนราคนอื่น ๆ ก็ใช้หอกแทงเข้ต่อจากโนราใหญ่แล้วว่าบทปลงอนิจจัง กรวดน้ำให้ชาละวันจบแล้วว่าคาถาถอนเสนียดจากเข้ เป็นอันจบพิธีกรรมโนราแทงเข้


ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล : มรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม
ศึกษาและค้นคว้าข้อมูลเนื้อหาโดย
: โนราบรรดาศักดิ์   พิทักษ์ศิลป์
ขอขอบคุณที่มาของรูปจาก Facebook
เมื่อวันที่ ๑/๑๐/๒๕๕๕

http://krunora.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น