๘ ตำนานโนรา
ศาสตร์แห่งภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมภาคใต้
โนรา
เป็นการละเล่นพื้นเมืองภาคใต้ที่มีมาแต่โบราณประมาณอายุตามที่หลายๆ
ท่านสันนิษฐานไว้ ตกสมัยศรีวิชัยหรือไม่ก็ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เป็นอย่างมาก
ด้วยกาลเวลาผ่านมานานเช่นนี้ ทำให้ประวัติความเป็นมาของโนราเล่าผิดเพี้ยนกัน
จนกลายเป็นตำนานหลายกระแสดังนี้
ตำนานที่ ๑ เล่าโดยขุนอุปถัมภ์นรากร (โนราพุ่มเทวา)
อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง
ความว่าพระยาสายฟ้าฟาดเป็นกษัตริย์ครองเมืองๆ หนึ่ง มีชายาชื่อนางศรีมาลา
มีธิดาชื่อนางนวลทองสำลี วันหนึ่งนางนวลทองสำลีสุบินว่ามีเทพธิดามาร่ายรำให้ดู
ท่ารำมี ๑๒ ท่า มีดนตรีประโคม ได้แก่ กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ และแตระ
นางให้ทำเครื่องดนตรีและหัดรำตามที่สุบินเป็นที่ครึกครื้นในปราสาท อยู่มาวันหนึ่ง
นางอยากเสวยเกสรบัวในสนะหน้าวัง คั้นนางกำนัลเก็บถวายให้เสวย นางก็ทรงครรภ์
แต่ยังคงเล่นรำอยู่ตามปกติ วันหนึ่งพระยาสายฟ้าฟาดเสด็จมาทอดพระเนตรการรำของธิดา
เห็นนางทรงครรภ์ทรงซักไซ้เอาความจริง ได้ความเหตุเพราะเสวยเกสรบัว
พระยาสายฟ้าฟาดทรงไม่เชื่อ และทรงเห็นว่านางทรงทำให้อัปยศ
จึงรับสั่งให้เอานางลอยแพ พร้อมด้วยสนมกำนัล ๓๐ คน แพไปติดเกาะกะชัง
นางจึงเอาเกาะนั้นเป็นที่อาศัย ต่อมาได้ประสูติโอรส ทรงสอนให้โอรสรำโนราได้ชำนาญ
แล้วเล่าเรื่องแต่หนหลังให้ทราบ ต่อมากุมารน้อยซึ่งเป็นโอรสของนางนวลทองสำลี
ได้โดยสารเรือพ่อค้าไปเที่ยวรำโนราไปยังเมืองพระอัยกา
เรื่องเล่าลือไปถึงพระยาสายฟ้าฟาด ๆ ทรงปลอมพระองค์ไปดูโนรา
เห็นกุมารน้อยมีหน้าตาคล้ายพระธิดา จึงทรงสอบถามจนได้ความจริงว่าเป็นพระราชนัดดา
จึงรับสั่งให้เข้าวัง และให้อำมาตย์ไปรับนางนวลทองสำลีจากเกาะกะชัง
แต่นางไม่ยอมกลับ พระยาสายฟ้าฟาดจึงกำชับให้จับมัดขึ้นเรือพามา
ครั้นเรือมาถึงปากน้ำ จะเข้าเมืองก็มีจระเข้ลอยขวางทางไว้
ลูกเรือจึงต้องปราบจระเข้ ครั้งนางเข้าเมืองแล้ว พระยาสายฟ้าฟาดได้ทรงจัดพิธีรับขวัญขึ้น
และให้มีการรำโนราในงานนี้โดยประทานเครื่องต้น อันมีเทริด กำไลแขน ปั้นเหน่ง
สังวาลพาดเฉียง ๒ ข้าง ปีกนกแอ่น หางหงส์ สนับเพลา ฯลฯ
ซึ่งเป็นเครื่องทรงของกษัตริย์ให้เป็นเครื่องแต่งตัวโนรา
และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่กุมารน้อยราชนัดดาเป็นขุนศรีศรัทธา
ตำนานที่ ๒ เล่าโดยโนราวัด
จันทร์เมือง ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ความว่า
ท้าวมัทศิลป์
นางกุญเกสี เจ้าเมืองปิญจา มอบราชสมบัติให้เจ้าสืบสาย ราชโอรสขึ้นครองแทน
โดยแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดและมอบพี่เลี้ยงให้ ๖ คน ชื่อนายทอง นายเหม
นายบุษป์ นายวงศ์ นายตั้น และนายทัน
โดยแต่งตั้งให้คนแต่ละคนมีบรรดาศักดิ์และหน้าที่ดังนี้ นายทองเป็นพระยาหงส์ทอง
ตำแหน่งทหารเอกฝ่ายขวา นายเหมเป็นพระยาหงส์เหมราช ตำแหน่งทหารเอกฝ่ายซ้าย
นายบุษป์เป็นขุนพิจิตรบุษบา ตำแหน่งปลัดขวา นายวงศ์เป็นพระยาไกรยวงศา
ตำแหน่งปลัดซ้าย นายตั้นเป็นพระยาหริตันปัญญา ตำแหน่งขุนคลัง
และนายทันเป็นพระยาโกนทันราชาให้เป็นใหญ่ฝ่ายปกครอง เจ้าพระยาฟ้าฟาดมีชายาชื่อศรีดอกไม้
มีธิดาชื่อนวลสำลี นางนวลสำลีมีพี่เลี้ยง ๔ คน คือ แม่แขนอ่อน แม่เภา แม่เมาคลื่น
และแม่ยอดตอง เมืองนางนวลสำลีเจริญวัย
พระอินทร์คิดจะให้มีนักรำแบบใหม่ขึ้นในเมืองกุลชมพู
เพิ่มจากหัวล้านชนกันและนมยานตีเก้งซึ่งมีมาก่อน
จึงดลใจให้นางนวลสำลีอยากกินเกสรบัว ขณะที่นางกินเกสรบัว
พระอินทร์ก็ส่งเทพบุตรไปปฏิสนธิในครรภ์ของนาง
จากนั้นมานางรักนางรักแต่ร้องรำทำสนุกสนานแม้เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจะห้ามปราม
แต่พบลับหลังก็ยิ่งสนุกสนานยิ่งขึ้น
เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจึงสั่งเนรเทศโดยให้จับลอยแพพร้อมด้วยพี่เลี้ยงไปเสียจากเมือง
พระยาหงส์ทองกับพระยาหงส์เหมราชเห็นเช่นนั้นจึงวิตกว่า
ขนาดพระธิดาทำผิดเพียงนี้ให้ทำโทษถึงลอยแพ ถ้าตนทำผิดก็ต้องถึงประหาร
จึงหนีออกจากเมืองเสีย แพของนางนวลสำลีลอยไปติดเกาะกะชัง
นางคลอดบุตรที่เกาะนั้นให้ชื่อว่าอจิตกุมาร
เมื่ออจิตกุมารโตขึ้นก็หัดร้องรำด้วยตนเอง โดยดูเงาในน้ำเพื่อรำให้สวยงาม
และสามารถรำท่าแม่บทได้ครบ ๑๒ ท่า ต่อมาข่าวการรำแบบใหม่นี้ได้แพร่ไปถึงเมืองปิญจา
เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจึงให้คนไปรับมารำให้ชาวเมืองดู
คณะของอจิตกุมารถึงเมืองปิญจาวันพุธตอนบ่ายโมง เมื่ออจิตกุมารรำคนก็ชอบหลงใหล
ฝ่ายนางนวลสำลีและพี่เลี้ยงได้เล่าความหลังให้อจิตกุมารฟัง
อจิตกุมารจึงหาทางจนได้เฝ้าพระเจ้าตา
เมื่อทูลถามว่าที่ขับไล่นางนวลสำลีนั้นชาวเมืองชอบใจหรือไม่พอใจ
เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดว่าไม่รู้ได้ แต่น่าจะพอใจ
เพราะเห็นได้จากที่พระยาหงส์ทองและพระยาหงส์เหมราชหนีไปเสียคงจะโกรธเคืองในเรื่องนี้
อจิตกุมารถามว่าถ้าพระยาทั้งสองกลับมาจะชุบเลี้ยงหรือไม่
เมื่อเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดว่าจะชุบเลี้ยงอีก
อจิตกุมารจึงทำพิธีเชิญพระยาทั้งสองให้กลับโดยทำพิธีโรงครู
ตั้งเครื่องที่สิบสองแล้วเชิญครูเก่าแก่ให้มาดูการรำถวายของเขาและเชิญมากินเครื่องบูชา
เมื่อเชิญครูนั้นได้เชิญพระยาทั้งหกซึ่งเป็นพี่เลี้ยงเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดขึ้นกินเครื่องบูชาด้วย
เมื่อทุกคนได้เห็นการรำก็พอใจหลงใหลแต่เสียตรงที่เครื่องแต่งกายเป็นผ้าเก่าๆ ขาด ๆ
จึงหยิบผ้ายกที่จัดไว้เป็นเครื่องบูชาให้เปลี่ยนแทน
พอเปลี่ยนแล้วเห็นว่ารำสวยยิ่งขึ้น แจ้าพระยาสายฟ้าฟาดเห็นดังนั้นจึงเปลื้องเครื่องทรงและถอดมงกุฎให้
และกำหนดเป็นหลักปฎิบัติว่า ถ้าใครจะรับดนราไปรำต้งอมีขันหมากให้ปลูกโรงรำกว้าง ๙
ศอก ยาว ๑๑ ศอก ให้โรงรำเป็นเขตกรรมสิทธิ์ของคณะผู้รำ อจิตกุมารรำถวายครูอยู่ ๓ วัน ๓ คืน
พอถึงวันศุกร์จึงเชิญครูทั้งหมดให้กลับไป เสร็จพิธีแล้วเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดให้เปลี่ยนชื่อธิดาเพื่อให้สิ้นเคราะห์จากนางนวลสำลีเป็นศรีมาลาให้เปลี่ยนชื่อจิตกุมารเป็นเทพสิงสอน
แล้วพระราชทานศรและพระขรรค์ให้ด้วย จากนั้นพระเทพสิงสอนได้เที่ยวเล่นรำยังที่ต่างๆ
พระยา ๔ คนขอติดตามไปเล่นด้วย ขุนพิจิตรบุษบากับพระยาไกรยวงศา เล่นเป็นตัวตลก
สวมหน้ากากพราน จึงเรียกขานต่อมาว่าขุนพราน พระยาพราน
พระยาโกนทันราชาแสดงการโถมน้ำส่วนพระยาหริตันปัญญาแสดงการลุยไฟให้คนดู
จึงได้นามเรียกขานกันต่อมาว่า พระยาโถมน้ำ และพระยาลุยไฟ ตามลำดับ เมืองปัญจา เจ้าเมืองชื่อท้าวแสงอาทิตย์
ชายาชื่อกฤษณา มีโอรสชื่อศรีสุธน ศรีสุธนมีชายาชื่อกาหนม มีพรานปืน ๑ คน
คอยรับใช้ชื่อบุญสิทธิ์ พรานออกป่าล่าเนื้อมาส่งส่วยทุก ๗ วัน
ครั้งหนึ่งหาเนื้อไม่ได้ แต่ได้พบนาง ๗ คนมาอาบน้ำที่สระอโนตัด
ครั้นกลับมาเข้าเฝ้าพระราชาและทูลว่าหาเนื้อไม่ได้
จึงถูกภาคทัณฑ์ว่าถ้าหาเนื้อไม่ได้อีกครั้งเดียวจะถูกตัดหัว
พรานจึงคิดจะไปจับนางทั้ง ๗ คนมาถวายแทนสัก ๑ คน นางทั้ง ๗ คนเป็นลูกท้าวทุมพร
เดิมท้าวทุมพรเป็นนายช่างของเมืองปัญญา ท้าวแสงอาทิตย์ให้สร้างปราสาทให้สวยที่สุด
ครั้นสร้างเสร็จท้าวแสงอาทิตย์เกรงว่าถ้าเลี้ยงไว้ต่อไปจะไปสร้างปราสาทให้เมืองอื่นอีกและจะทำให้สวยกว่าปราสาทเมืองปัญจา
จึงสั่งให้ฆ่าท้าวทุมพรเสีย ท้าวทุมพรหนีไปอยู่เมืองไกรลาส มีเมียชื่อเกษณี
มีลูกสาว ๗ คน ชื่อจันทรสุหรี ศรีสุรัต พิม พัด รัชตา วิมมาลา และโนรา
เมื่อลูกสาวจะไปอาบน้ำที่สระอโนตัด ท้าวทุมพรได้ทำปีกหางให้บินไป ครั้งหนึ่ง
ขณะนางทั้ง ๗ คนอาบน้ำที่สระอโนตัด พรานบุญลักปีกหางนางโนรา
แล้วไปขอร้องพญานาคเกลอมาช่วยจับพญานาคนี้เดิมเคยถูกครุฑเฉี่ยว
พรานบุญสิทธิ์ได้ช่วยชีวิตไว้ ครั้นพรานขอร้องจึงให้การช่วยเหลือ พรานนำนางโนราไปถวายพระศรีสุธนๆ
รับไว้เป็นชายา ต่อมาข้าศึกเมืองพระยาจันทร์ยกมาตีปัญจา พระศรีสุธนออกศึก
แล้วตามไปปราบถึงเมืองพระยาจันทร์ อยู่ข้างหลังนางกาหนมหาอุบายจะฆ่านางโนรา
โดยจ้างโหรให้ทำนายว่าพระศรีสุธนมีพระเคราะห์จะไม่ได้กลับเมือง
ถ้าไม่ได้ทำพิธีบูชายัญและการบูชายัญนี้ให้เอานางโนราเผาไฟ
นางโนราจึงออกอุบายขอปีกหางสวมใส่เพื่อรำให้แม่ผัวดูก่อนตาย และให้เปิดจาก ๗ ตับ
เพื่อรำถวายเทวดา นางรำจนเพลินแล้วบินหนีไปเมืองไกรลาส
พระสุธนตามไปจนได้รับกลับเมือง ต่อมาพรานบุญสิทธิ์ได้พบน้ำสุราที่คาคบไม้
ดื่มแล้วนึกสนุก เดินทางไปพบเทพสิงสอนเที่ยวรำเล่นอยู่ จึงสมัครเข้าเป็นพราน เมื่อเทพสิงสอนอายุได้
๒๕ ปี เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดให้บวช ในพิธีบวชมีการตัดจุกใหญ่โต
พรานบุญจึงนำเรื่องนางโนราทีตนพบมาเล่าและดัดแปลงขึ้นเล่นในครั้งนั้น
โดยเล่นตอนคล้องนางโนราที่เรียกว่า "คล้องหงส์"
(นายซ้อน ศิวายพราหมณ์)
ตำนานที่ ๓ จากนายซ้อน ศิวายพราหมณ์ ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ( พ.ศ. ๒๕๐๘)
เล่าไว้เป็นกลอน ๔ ว่า
ก่อเกื้อกำเนิด คราเกิดชาตรี
แต่ปางหลังยังมี เมื่อคราวครั้งตั้งดิน
บิดาของเจ้า ชื่อท่านท้าวโกสินทร์
มารดายุพิน ชื่อนางอินทรกรณีย์
ครองเมืองพัทลุง เป็นกรุงธานี
บุตรชายท่านมี ชื่อศรีสิงหรณ์
ทุกเช้าทุกค่ำ เที่ยวรำเที่ยวร่อน
บิดามารดร อาวรณ์อับอาย
คิดอ่านไม่ถูก เพราะลูกเป็นชาย
ห้ามบุตรสุดสาย ไม่ฟังพ่อแม่
คิดอ่านไม่ถูก จึงเอาลูกลอยแพ
สาวชาวชะแม่ พร้อมสิบสองคน
มาด้วยหน้าใย ที่ในกลางหน
บังเกิดลมฝน มืดมนเมฆัง
คลื่นซัดมิ่งมิตร ไปติดเกาะสีชัง
สาวน้อยร้อยชั่ง เคืองคั่งบิดร
จับระบำรำร่อน ที่ดอนเกาะใหญ่
ข้าวโพดสาลี มากมีถมไป
เทวาเทพไท ตามไปรักษา
รู้ถึงพ่อค้า รับพาเข้าเมือง
ฝ่ายข้างบิตุรงค์ ประทานให้เครื่อง
สำหรับเจ้าเมือง เปลื้องให้ทันที
ตั้งแต่นั้นมา เรียกว่าชาตรี
ประวัติว่ามี เท่านี้แหละหนา
(สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ)
ตำนานที่ ๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ทรงอ้างถึงหลักฐานอันเป็นตำนานที่ได้ไปจากนครศรีธรรมราช ดังปรากฏในหนังสือตำนานละครอิเหนาว่า"ในคำไหว้ครูของโนรามีคำกล่าวถึงครูเดิมของโนราที่ชื่อขุนศรัทธาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา
มีความผิดต้องราชทัณฑ์ ถูกลอยแพไปเสียจากพระนคร
แพขุนศรัทธาลอยออกจากปากน้ำไปติดอยู่ที่เกาะสีชัง
พวกชาวเรือทะเลมาพบเข้าจึงรับไปส่งขึ้นที่เมืองนคศรีธรรมราชหรือเมืองนคร
ขุนศรัทธาจึงได้เป็นครูฝึกโนราให้มีขึ้นที่เมืองละครเป็นเดิมมา"
ทั้งยังประทานความเห็นอีกว่าขุนศรัทธานี้เป็นตัวละครที่มีชื่อเสียงมากในกรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะเมื่อเล่นเรื่อง
"นางมโนห์รา" ครั้นถูกเนรเทศไปอยู่เมืองนครก็หัดให้ขาวเมืองเล่นแบบเก่า
ชาวเมืองนครซึ่งชอบพูดห้วนสั้น โดยตัดคำต้นทิ้งจึงเรียกละครชนิดนี้ว่า
"โนรา"
(ภาพจากละครชาตรี)
ตำนานที่ ๕ เป็นตำนานละครชาตรีกรมศิลปากรปรากฎในหนังสือการเล่นของไทย
สรุปความว่า ท้าวทศมาศ นางสุวรรณดารา ครองกรุงศรีอยุธยา มีพระธิดา ชื่อนางนวลสำลี
ครั้นนางนวลสำลีเจริญวัย เทพยดาได้มาปฏิสนธิในครรภ์โดยที่นางมิได้มีสวามี
ความทราบถึงท้าวทศวงศ์ จึงทรงให้โหรทำนายได้ความว่า
ชะตาบ้านเมืองจะบังเกิดนักเลงชาตรี ท้าวทศวงศ์เกรงจะอับอายแก่ชาวเมือง
จึงให้เอานางลอยแพไปเสีย
เทพยดาบันดาลให้แพไปติดเกาะสีชังแล้วเนรมิตศาลาให้นางอยู่อาศัย เมื่อครรภ์ครบทศมาสก็ประสูติพระโอรส
เพพยดานำดอกมณฑาสวรรค์มาชุบเป็นนางนมชื่อแม่ศรีมาลา แล้วชุบแม่เพียน แม่เภา
เป็นพี่เลี้ยง ต่อมานางศรีมาลาและพี่เลี้ยงกุมารไปเที่ยงป่า
ได้เห็นกินนรร่ายรำในสระอโนตัดนทีก็จำได้ เมื่อกุมารชันษาได้ ๙ ปี เทพยดาให้นามว่า
พระเทพสิงหร แล้วเทพยดาเอาศิลามาชุบเป็นพรานบุญ พร้อมกับชุบหน้ากากพรานให้ด้วย
พรานบุญเล่นรำอยู่กับพระเทพสิงหรได้ขวบปีก็ชวนกันไปเที่ยวป่า
ขณะนอนหลับใต้ต้นรังในป่าเทพยดาลงมาบอกท่ารำให้ ๑๒ ท่า ทั้งเนรมิตทับให้ ๒ ใบ
เนรมิตกลองให้ใบหนึ่ง แล้วชุบขุนศรัทธาขึ้นให้เป็นโนราเมื่อพระเทพสิงหลและพรานบุญตื่นขึ้นเห็นขุนศรัทธา
ทับ และกลอง ก็ยินดี ชวนกันกลับศาลาที่พัก จากนั้นเทพยดาก็เนรมิตเรือให้ลำหนึ่ง
บุคคลทั้งหมดจึงได้อาศัยเรือกลับอยุธยา เที่ยวเล่นรำจนลือกันทั่วว่า ชาตรีรำดีนัก
ท้าวทศวงศ์จึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า ทอดพระเนตรเห็นนางนวลสำลีก็ทรงจำได้ ตรัสถามความหนหลังแล้วโปรดปรานประทานเครื่องต้นให้พระเทพสิงหรใช้เล่นชาตรีด้วย
(นายพูน เรืองนนท์)
(ภาพโนราโรงครู)
ตำนานที่ ๗ เป็นตำนานโนราที่ได้รับการถ่ายทอดไว้ในรูปของบทกลอน "กาศครู"
หรือไหว้ครู มีต่างกันเป็น ๒ กลุ่ม
กลุ่มที่
๑ ได้แก่ คำกาศครู ของคณะโนราขุนอุปถัมภ์นรากร เป็นต้น บทกาศครูว่าดังนี้
ตอน ๑
ขานเอ ขานให้โนเนโนไน
ขานมาชาต้อง ทำนองเหมือนวัวชัก
ไถเพลงครวญคิดขึ้นมา ทรหวนในหัวใจ
เพลงสำลีไม่ลืมใน พี่ไปไม่ลืมน้องหนา
ลมเอยรวยรวย ยังหอมแต่รสแป้งทา
หอมรสครูข้า ส่งกลิ่นพ่อมาไรไร
หอมมาสาแค่ ลูกเหลียวไปแลหอมไกล
หอมฟุ้งสุราลัย ไคลเข้าในโรงน้องหนา
ลมใดพัด แล้วตั้งเมฆขึ้นมา
ลมว่าวดาหรา พัดโต้ด้วยลมหลาตัน
ลูกก็ชักใบแล่น กลางคืนมาเป็นกลางวัน
ไกลหลิ่งไกลผั่ง เอาเกาะกะชังเป็นเรือน
ลูกนั่งนับปี นางทองสำลีนับเดือน
เอาเกาะชังเป็นเรือน เป็นแทนที่นอนน้องหนา
ตอนที่ ๒
ฤกษ์งามยามดี ปานี้ชอบยามเพราะเวลา
ชอบฤกษ์ร้องเชิญ ดำเนินราชครูถ้วนหน้า
ราชครูของน้อง ลอยแล้วให้ล่องเข้ามา
มาอยู่เหนือเกล้าเกศา มาอยู่เหนือเกล้าเหนือผม
มาช่วยคุ้มลมกันยา กันทั้งลูกลมพรมโหวด
กันทั้งผีโภตมายา มากันพรายแกมยา
ละมบเข้าฝั่งไว้ริมทาง มากันให้ถ้วนให้ถี่
มากันลูกนี้ทุกทีย่าน ละมบเข้าฝั่งไว้ริมทาง
มากันลูกนี้ทุกทีย่าน ละมบเข้าฝั่งไว้ริมทาง
จำไว้แวะซ้ายแวะขวา สิบสองหัวช้างสิบสองหัวเชียก
จำให้พ่อร้องเรียกหา ถ้าพ่อไม่มา
ลูกยาจะได้เห็นหน้าใคร เห็นหน้าแต่ท่านผู้อื่น
ความชื่นลูกยามาแต่ไหน ให้ลูกเหลียวหน้าไปหาใคร
เหมือนไยราชครูถ้วนหน้า ลูกไหว้ครูพักอีกทั้งครูสอน
ไหว้แล้วเอื้อนกลอนต่อมา ไหว้ครูสั่งสอนข้า
พ่อมาคุ้มหน้าคุ้มหลัง มาเถิดพ่อสายสมร
มาคุ้มลูกเมื่อนอนเมื่อนั่ง มาคุ้มข้างหน้าข้างหลัง
พ่อมาวังซ้ายวังขวา ราชครูของน้อง
ลอยแล้วให้ล่องเข้ามา ราชครูของข้า
ดำเหนินเชิญมาให้หมดสิ้น ไหลแล้วให้เทกันเข้ามา
ขุนโหรญาโหรขุนพรานญาพราน โปรดปรานเหนือเกล้าเกศา
ไหว้พรานเทพเดินดง พระยาพรานคงเดินป่า
พรานบุญพฤษา เดินจำนำหน้าราชครู
แม้นผิดแม้นพลาดตรงข้อไหน ท้าวไทยเมตตาได้เห็นดู
บรรดาราชครู มาอยู่เบื้องซ้ายเบื้องขวา
ลูกจับเริ่มเดิมมา ไหว้ขุนศรัทธาเป็นประธาน
ไหว้หลวงเสนได้เป็นครูพัก เป็นหลักนักเลงแต่โบราณ
ถัดแต่นั้นทองกันดาร ไหว้ตาหลวงเสนสองเมือง
ไหว้ตาหลวงคงคอ ผมหมอไหว้ท้าววิจิตรเรือง
โปรดให้รับท้าวเข้าสู่เมือง ลือเลื่องความรู้ได้เล่าเรียน
พ่อมาสอนศิษย์ไว้ต่างตัว พ่อไม่คิดกลัวเพราะความเพียร
สิบนิ้วข้าหรือคือเทียน เสถียรสถิตยอไหว้ไป
ยอไหว้พระยาโถมน้ำ โฉมงามพระยาลุยไฟ
พระยาสายฟ้าฟาด ลูกน้อยนั่งร้องกาศไป
พระยามือเหล็กพระยามือไฟ ไหว้ใยตาหลวงคงคอ
ไหว้ลูกของพ่อที่แทนมา ชื่อจันทร์กระยาผมหมอ
ตาหลวงคงคอ ผมหมอหลวงชมตาจิตร
เมื่อยามพ่อเป็นหลวงนาย แต่ท้าวมาไร้ความคิด
หลวงชมตาจิตร ผิดด้วยสนมกรมชาววัง
รับสั่งผูกคอให้ฆ่าเสีย พ่อไม่ทันได้สั่งลูก
บุญปลูกไม่ทันได้สั่งเมีย รับสั่งผูกคอให้ฆ่าเสีย
ในฝั่งแม่น้ำย่านยาว หากพ่อมาตายด้วยเจ็บไข้
ลูกรักจักได้ไปถามข่าว ในฝั่งแม่น้ำย่านยาว
ชีวิตพ่อม้วยมรณา ถ้าพ่อตายข้างฝ่ายบก
ให้เป็นเหยื่อนกเหยื่อกา พ่อไปตายฝ่ายเหนือ
ให้น้ำเน่าน้ำเหงื่อไหลลงมา น้ำเน่าลายจันทร์
น้ำมันลูกลายแป้งทา โดกแข้งโดกขา
ลูกยาไว้ทำไม้กลัดผม ดวงเนตรพ่อทองผมสอด
ลูกน้อยไว้ทำไม้หลอดอม ทำไม้กลัดผม
ชมต่างพ่อร้อยชั่งแก้ว โอ้พ่อร้อยชั่งแก้ว
สองแถวพ่อร้อยชั่งอา ร้อยชั่งรักข้า
พ่ออย่าตัดรักเสียให้ม้วย พ่ออย่าตัดลูกเหมือนตัดตาล
พ่ออย่ารนรานเหมือนรานกล้วย พ่ออย่าตัดรัดเสียให้ม้วย
เห็นดูด้วยช่วยรำมโนห์รา
(บทกาศครู
กลุ่ม๑ นี้ยังมีอีก แต่ไม่เกี่ยวกับตำนานโนรา)
กลุ่มที่
๒ ได้แก่ คำกาศครูของโนราบริเวณภาคใต้ตอนบน ในที่นี้ได้จาก นายซ้อน ศิวายพราหมณ์
ตอนที่ ๑
รื่นเอยรื่นรื่น ข้าจะไหว้พระธรณีผึ่งแผน
ลูกเอาหลังเข้ามาเป็นแท่น รองตีนมนุษย์ทั้งหลาย
ชั้นกรวดและดินดำ ลูกจะไหว้ชั้นน้ำละอองทราย
นาคเจ้าแล้วฦาสาย ขานให้โนเนโนไน
ขานมาเล่าแล้ชาต้อง ทำนองเหมือนวัวชักไถ
เพลงสำลีไม่ลืมไย พี่ไปไม่ลืมน้องหนา
ลมตั้งเมฆแล้ว ก็พัดขึ้นมา
ลมว่าวดารา พัดโต้ด้วยลมสลาตัน
แล่นเรือเถิดเหวยน้อง กลางคืนมาเป็นกลางวัน
แล่นออกลึกไม่เห็นฝั่ง เอาเกาะสีชังมาเป็นเรือน
เป็นแท่นที่นอนน้องหนา
ตอนที่ ๒
ค่ำแล้วแก้วพี่ ปานี้ชอบยามพระเวลา
ค่ำแล้วแก้วพี่อา ค่ำเอยลงมาไรไร
มาเราค่อยจดค่อยจ้อง มาเราค่อยร้องค่อยไป
รักเจ้านวลสลิ้ม คือดังพิมพ์ทองหล่อใหม่
เจ้านวลทั้งก้าน สะคราญเจ้านวลทั้งใบ
เจ้านวลจริงจริงไม่มีใย ขัดใจไปแล้วน้องหนา
ครั้นถึงลงโรงลูกยอไหว้คุณ หารือพ่อขุนศรัทธา
ศรัทธาแย้มศรัทธาราม โฉมงามเบิกหน้าบายตา
ศรัทธาแย้มศรัทธาขุ้ย เอ็นดูลูกนุ้ยทูลหัวอา
จำเดิมเริ่มมา แม่ศรีคงคาเป็นครูต้น
ลูกข้ามไม่รอด ลูกจะก้มรอดก็ไม่พ้น
แม่ศรีคงคาเป็นครูต้น มารดาศรัทธาท่าแค
น้องแต่พ่อเทพสิงหร ถ้าพ่อสมัครรักลูกจริง
วันนี้อวยสิงอวยพร น้องแต่พ่อเทพสิงหร
ได้สอนสืบสืบกันมา มาสิ่งมาสู่
มาอยู่เหนือเกล้าเกศา ราชครูของน้อง
ลอยแล้วให้ล่องกันเข้ามา มาพร้อมเสร็จสรรพ
คำนับไหว้คัลวันทนา
ตอนที่ ๓
แล่นเรือเถิดเหวยน้อง กลางคืนมาเป็นกลางวัน
แล่นออกลึกไม่เห็นฝั่ง เอาเกาะสีชังมาเป็นเรือน
เพื่อนบ้านเขานับปี นวลทองสำลีเขานับเดือน
เอาเกาะสีชังมาเป็นเรือน เป็นแท่นที่เรือนน้องหนา
ครั้นลงถึงโรงลูกจะตั้งนะโม อิติปิโสภควา
ตั้งเยเกจิ อกุศลาธรรมา
พระเจ้าทั้งห้า พระธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์
อย่าให้ศัตรูมาเบียนลูก ไหว้คุณธาตุทั้งสี่
พระธรรมทั้งเจ็ดคัมภีร์ มารักษาร่างกายา
พระวิภังค์แต่งหู พระสังคณีแต่งตา
พระธาตุกัตถา แต่งจมูกลูกหายใจ
แต่งจบครบสิ้น แต่งดินแต่งน้ำลมไฟ
แต่งจมูกลูกจาให้หายใจ ครบไปในร่างกายา
เมื่อแรกเริ่มเดิมมา แม่ศรีคงคาเป็นครูต้น
น้องแต่พ่อเทพสิงหร ถ้าแม่สมัครรักลูกจริง
วันนี้อวยสิงอวยพร น้องแต่พ่อเทพสิงหร
มานอนสอนลูกอยู่พำพำ หลับเสียลูกลืมถ้อย
ตื่นขึ้นลูกน้อยลืมจำ ลืมถ้อยลืมคำ
ลืมจำราชครูถ้วนหน้า พ่อตายข้างฝ่ายเหนือ
น้ำเน่าน้ำเหงื่อไหลมา น้ำเน่าลูกลายจันทน์
น้ำมันลูกลายแป้งทา กระดูกแข้งกระดูกขา
ลูกยาจะทำไม้กลัดผม ดวงเนตรพ่อทองผมสอด
ลูกจะคลายออกชม ทำไม้กลัดผม
ชมต่างพ่อร้อยชั่งเหอ พ่อร้อยชั่งเหอ
สองแก้วพ่อร้อยชั่งอา พ่อร้อยชั่งขา
พ่ออย่าตัดรักเสียให้ม้วย พ่ออย่าตัดลูกเหมือนตัดตาล
พ่ออย่าตัดหลานเหมือนรานกล้วย พ่ออย่าตัดรักเสียให้ม้วย
มาด้วยช่วยรำมโนห์รา ราชครูของข้า
ใครเรียกใครหาพ่ออย่าไป เข้ามาเถิดเหวยยอด
เชิญทอดเข้ามาเถิดเหวยใย เชิญพ่อมานั่งตรงนี้
ลูกชายขยายที่ให้นั่งใน ใครเรียกใครพาพ่ออย่าไป
แวะเล่นด้วยใยน้องหนา ราชครูของน้อง
ลอยแล้วให้ล่องกันเข้ามา มาแล้วเสร็จสรรพ
คำนับไหว้คัลวันทนา โอมพร้อมมหาพร้อม
มานั่งห้อมล้อมทั้งซ้ายขวา มาแล้วพรูพรั่ง
มานั่งแห่หลังแห่หน้า ประกาศครูเท่านั้นแล้ว
ขอแผ้วเป็นเพลงพระคาถา ไหว้นวลนางหงส์กรุงพาลี
ไหว้นางธรณีแม่ได้เป็นใหญ่ ลูกเล่นเต้นรำบนหัวแม่
วันนี้แล้ขอคำความอำภัย หลีกเกล้าเกศาเสียให้ไกล
ในวันนี้เล่าเจ้าแม่หนา นางธรณีแมม่ทองตาต่ำ
ลูกขอที่รำมโนห์รา ขอที่ตั้งเชี่ยนตั้งฉัตร
ตั้งโรงมนัสเบญจา ขอที่ตั้งฉัตรขอที่ตั้งโถง
ขอที่ตั้งโรงมโนห์รา ไหว้พี่พิณพี่พัด
พี่ศรีจุรัสพัชดา ทูลหัวตัวพี่ชื่อจันจุรีศรีจุหลา
เจ็ดนางชาวฟ้า ลูกสาวของท้าวทุมพร
สอดปีกสอดหาง งามเหมือนอย่างนางขี้หนอน
เจ้าไปสรงน้ำที่ในดงดอน ไปได้นายพรานพฤกษา
คนสุดท้องเพื่อน แก้มเกลื้อนชื่อนางมโนห์รา
ไหว้พรานเทพเดินดง ไหว้พรานคงเดินป่าจับ
ได้นางแล้วพานางมา พาบุกเข้าป่าไม้รังเรียง
น่าสงสารนวลน้อง นางเหอเจ้าร้องส่งเสียง
พาบุกเข้าป่าไม้รังเรียง พาเหวี่ยงซ่อนไว้ใต้กาหลง
กาโมห์กาใบ้ คนเดินเข้าใกล้ให้งวยงง
พาเหวี่ยงซ่อนไว้ใต้กาหลง ไปถวายพระสุธนราชา
(ภาพจากสถาบันทักษิณคดีศึกษา)
ตำนานที่ ๘ เล่าโดยอาจารย์เจิม เศรษฐ์ณรงค์บ้านช่างทองตก หมู่ที่ 6 ต.นาปะขอ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง ความว่ากาลครั้งนั้น ยังมีพระยาเมืองพัทลุง
กับพระมเหสี ได้ครองคู่กันมาหลายปี แต่ก็หาได้มีบุตรไว้สืบสกุลสักคน ทั้งพระสามี
และมเหสี ได้ตกลงกันจุดธูปเทียน บนบานศาลกล่าว แด่เทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ขอให้ช่วยประทานบุตรให้สักคน จะเป็นหญิงก็ได้ ชายก็ดี ไว้เป็นทายาทสืบสกุลต่อไป อยู่มาวันหนึ่งพระมเหสี
บอกพระสามีว่ากำลังทรงมีพระครรภ์ พระสามีได้ฟัง ก็ดีพระทัยมาก
ต่อมาเมื่อครบกำหนดประสูติกาลได้ประสูติพระธิดา จึงได้ตั้งชื่อว่า ศรีมาลา
เจริญวัยมาได้ประมาณ 5 - 6 เดือน ก็เริ่มรำ
ทำมือพลิกไปพลิกมา นางสนมพี่เลี้ยง ก็เลยร้องเพลง หน้อย ๆ ๆ จนเคยชิน
ตั้งแต่เล็กจนโตรำมาตลอด ถ้าหากวันใดไม่ได้รำ ข้าวน้ำจะไม่ยอมเสวย
ส่วนพระบิดาก็ร้อนใจ และละอายต่อไพร่ฟ้า ประชาชน ที่พระธิดาโตแล้วยังรำอยู่ เช่นนั้น
ไม่รู้จะทำอย่างไร ส่วนประชาชนก็พากันติฉินนินทาไม่ขาดหู เลยตัดสินใจ
ให้ทหารนำไปลอยแพในทะเล แม่ศรีมาลาต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส
จนสลบนอนแน่นิ่งอยู่บนแพนั้น แพถูกคลื่นลมพัดพาไปตามกระแสน้ำตามยถากรรม
จนกระทั่งไปติดอยู่กับโขดหิน ใกล้กับเกาะสีชัง พ่อขุนศรัทธา
ซึ่งต้องคดีการเมืองถูกนำไปกักไว้บนเกาะสีชัง พร้อมพวกพระยาต่างๆ
ที่ต้องคดีเดียวกัน ถูกนำมากักขังรวมกัน เป็นนักโทษการเมือง บนเกาะแห่งนี้
ในวันนั้น พ่อขุนศรัทธา ได้ลงไปตักน้ำ เพื่อจะชำระร่างกาย บังเอิญมองไปในทะเล
ได้เห็นแพลำหนึ่งลอยมาติดอยู่ ที่โขดหินใกล้เกาะ และมีคนๆ หนึ่งนอนอยู่บนแพ
พอจะแลเห็นได้ถนัด ตนเองจะลงไปช่วยก็ไม่ได้เพราะน้ำบริเวณนั้นลึกมาก
จึงไปบอกกับพระยาโถมน้ำ ซึ่งเป็นผู้มีวิชาอาคม เดินบนน้ำได้ ให้ไปช่วย
พระยาโถมน้ำรับปากแล้ว ได้ลงมาดู เห็นเป็นดังที่ขุนศรัทธาพูดจริง
จึงตัดสินใจเดินไปบนน้ำ ลากแพเข้าหาฝั่งได้ แต่จะทำอย่างไร
ผู้หญิงที่นอนอยู่ในแพยังสลบไศลไม่ได้สติ จึงได้เรียกบรรดาพวกพระยาทั้งหมด
ให้มาดูเผื่อจะมีผู้ใดมีปัญญาช่วยเหลือได้ ขณะนั้น
พระยาลุยไฟซึ่งร่วมอยู่ในกลุ่มนั้นด้วย คิดว่าผู้หญิงคนนี้ คงไม่เป็นอะไรมาก
คงเนื่องจากความหนาวเย็นนั่นเอง ที่ทำให้เธอไม่ได้สติ
เมื่อคิดได้ดังนั้นจึงสั่งให้พวกพระยาทั้งหลาย ช่วยกันหาไม้ฟืนมาก่อไฟสักกองใหญ่
แล้วพระยาลุยไฟก็อุ้มเอาร่างผู้หญิงคนนั้น เดินเข้าไฟในกองไฟ
ความหนาวที่เกาะกุมนางอยู่ เมื่อถูกความร้อนจากกองไฟ
ก็เริ่มผ่อนคลายและรู้สึกตัวในเวลาต่อมา เมื่อเห็นว่าเธอปลอดภัยแล้ว
จึงนำนางขึ้นไปยังที่พัก และให้ข้าวปลาอาหารแก่นาง จนมีเรี่ยวแรงปกติขึ้น
เมื่อมีเรี่ยวแรงดีแล้ว แม่ศรีมาลาก็เริ่มรำอีก ทำให้พวกพระยาทั้งหลายพากันแปลกใจ
พากันถามไถ่ไล่เรียง แม่ศรีมาลาจึงเล่าความเป็นมาทั้งหมดให้พวกพระยาฟัง พวกพระยาทั้งหมดต่างก็คิดกันว่า จะทำอย่างไรต่อไปดี พระยาคนหนึ่ง
จึงเสนอให้พ่อขุนศรัทธา นำแม่ศรีมาลาไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม
ส่วนเรื่องการร่ายรำของเธอ จะมอบให้พระยาเทพสิงหร ไปประชุมพระยาให้ช่วยกันจัดการ
ในเครื่องดนตรี และพระยาเทพสิงหร เป็นหัวหน้าคณะ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามที่ตกลงกันแล้ว
ก็ยังมีเหลืออีกอย่าง คือชื่อคณะ ให้ทุกคนช่วยกันคิดว่าจะตั้งชื่อคณะว่าอย่างไร
แม่ศรีมาลาได้ยินดังนั้น จึงคิดขึ้นมาได้ว่า ตอนที่ลอยอยู่ในทะเล
เธอได้ระลึกถึงชาติก่อนๆ ได้ จึงบอกพระยาทั้งหลายว่า ชื่อคณะสมควรจะใช้ชื่อว่า
"คณะมโนราห์" เพราะเมื่อชาติก่อน หนูเคยเกิดเป็นมนุษย์ครึ่งนก หนูชื่อ
มโนราห์ ทุกคนพูดว่า จำชาติเกิดปางก่อนได้ด้วยหรือ แม่ศรีมาลาตอบว่า จำได้ทุกชาติ
หนูเกิดมาทั้งหมด 12 ชาติ รวมทั้งชาติปัจจุบันด้วย
เหล่าพระยาจึงว่า ถ้าอย่างนั้นหนูช่วยเล่าเรื่องราวแต่ละชาติให้พวกเราฟังเถิด
แม่ศรีมาลารับคำ แล้วก็เริ่มเล่าเรื่องแต่ละชาติปางก่อนให้ฟัง ชาติเกิดทั้ง 12
ชาติมีดังนี้
- ชาติที่ 1 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ มโนราห์
- ชาติที่ 2 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ เมรี
- ชาติที่ 3 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ ทิพย์เกสร
- ชาติที่ 4 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ อัมพันธุ์
- ชาติที่ 5 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ รจนา
- ชาติที่ 6 เกิดเป็นผู้ชาย ชื่อ จันทร์โครพ
- ชาติที่ 7 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ โมรา
- ชาติที่ 8 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ เกตุบุปผา
- ชาติที่ 9 เกิดเป็นผู้ชาย ชื่อ สังข์ศิลป์ชัย
- ชาติที่ 10 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ ยอพระกลิ่น
- ชาติที่ 11 เกิดเป็นผู้ชาย ชื่อ ไกรทอง
- ชาติที่ 12 เกิดเป็นผู้หญิง ชื่อ ศรีมาลา
ฉะนั้น การตั้งชื่อคณะ
ขอตั้งชื่อตามชื่อชาติที่หนึ่ง เพราะเป็นนักฟ้อนรำ หนูเป็นพวกกินรี
ครึ่งมนุษย์ครึ่งสัตว์ จึงขอตั้งชื่อคณะว่า "มโนราห์"
พวกพระยาได้ฟังดังนั้น จึงตอบตกลง จึงได้ชื่อว่า มโนราห์ มาจนทุกวันนี้ ในฐานะพระยาเทพสิงหร
เป็นหัวหน้าคณะ และได้ตั้งคณะมโนราห์ขึ้น มโนราห์โรงนี้ จึงเรียกกันว่า
มโนราห์เทพสิงหร กาลเวลาผ่านมาพอสมควร คณะมโนราห์เทพสิงหร ได้แสดงไปเรื่อยๆ
จนข่าวลือไปทั่วสารทิศ จนทราบไปถึง พระยาพัทลุง พระบิดา ซึ่งรู้เพียงว่า มโนราห์เทพสิงหรแสดงดีมาก
จึงรับสั่งให้ทหารไปรับมาแสดงในพระราชวัง มโนราห์ก็มาแสดงตามคำเรียกร้อง
พระยาเมืองพัทลุง ได้ทอดพระเนตรการแสดง ก็ทรงชื่นชมพอพระทัย พอถึงฉากแม่ศรีมาลาออกมารำ เจ้าเมืองก็จำไม่ได้ว่าเป็น แม่ศรีมาลา
เพราะแต่งกายในชุดมโนราห์ ดูผิดแปลกไป มีรูปทรงน่ารักน่าเอ็นดู
พร้อมทั้งมีเสน่ห์เย้ายวนใจ เมื่อแม่ศรีมาลา
นั่งอยู่บนเตียงตั่ง(ที่นั่งไม่มีพนัก) สำหรับมโนราห์นั่ง
เจ้าเมืองก็ลุกจากที่ประทับ เดินเข้าไปในโรงมโนราห์ ด้วยความเสน่หา
แล้วได้จูงมือแม่ศรีมาลา พาไปยังตำหนัก และเข้าไปในห้องทรง ให้แม่ศรีมาลา เปลี่ยนเครื่องทรงชุดมโนราห์ออก
แล้วร่วมสมสู่กับกับนาง แม่ศรีมาลาเห็นผิดปกติ ก็เลยบอกความจริงว่า พระบิดาเจ้าข้า
หม่อมฉัน เป็นลูกของท่านน๊ะ ลูกที่ท่านลอยแพไป หม่อมฉันยังไม่ตาย
แพไปติดอยู่ที่เกาะสีชัง พวกพระยาทั้งหลายเขาเลี้ยงหม่อมฉันไว้
แล้วได้ตั้งคณะมโนราห์ขึ้น เมื่อได้ฟังดังนั้น
ก็ทรงโกรธมาก จึงรับสั่งให้นำแม่ศรีมาลาไปถ่วงน้ำ
คณะมโนราห์ทั้งหมดก็ให้ทหารควบคุมตัวไว้ ไม่ให้ออกนอกวัง ส่วนแม่ศรีมาลา
เมื่อทหารกำลังนำตัวเดินลงมาจากพระตำหนัก นางได้ขอร้องให้ทหารนำตัวไปพบคณะมโนราห์
และได้กล่าวอำลาครั้งสุดท้ายด้วย ทหารจึงทำตามความประสงค์
นำตัวแม่ศรีมาลาไปพบคณะมโนราห์ ทุกคนเมื่อรู้เรื่องราวก็พากันเศร้าโศกเสียไจไปตามๆ
กัน แม่ศรีมาลา พูดกับคณะมโนราห์ว่า
หนูหมดบุญที่จะเป็นมนุษย์แล้ว เพราะเกิดมาครบสิบสองชาติแล้ว
ท่านทั้งหลายไม่ต้องเศร้าโศกเสียใจ เมื่อท่านคิดถึงหนู ขอให้จัดโรงมโนราห์ขึ้น
แล้วให้รำสิบสองท่า ว่าให้ครบสิบสองบท และเล่นสิบสองเรื่อง ตามชาติเกิดของหนู
แล้วท่านจะได้สมหวัง หนูจะมากินกับมโนราห์เท่านั้น สรุปว่า แม่ศรีมาลาตาย
เพราะถูกถ่วงน้ำ (ตายในน้ำ)
ศึกษาและค้นคว้ารวบรวมข้อมูลโดย : โนราบรรดาศักดิ์ พิทักษ์ศิลป์
ที่มาของเนื้อหาจากเว็บไซต์ต่างๆ
เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๔
เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๔
http://krunora.blogspot.com/
..ครึ่งคนครึ่งนก..กิน..กินรี..รำมโนราห์..ระบำกิงกะหร่า..โนราห์ชาตรี..ละคอนชาตรี..การแสดง..ฟ้อนเล็บ..ฟ้อนเจิง..ครูหมอ..ครอบครู..ฤษี..ไหว้ครู..รำถวายมือ..โนราห์โรงครู..การทรง..คงกระพันชาตรี..วิชาชาตรี..พระยาครุฑ..คือ..ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ กับ ไหว้ครู รำมวย..รำหมัดรำมวย..รำมุทรา..พระพุทธศาสนานิกายตันตระวัชรญาน..พระมหากัสสปเถระ..
ตอบลบ