โนราโรงครู
ตอนส่งราชครูโนราครูหมอโนราสู่โลกวิญญาณ
ในวันสุดท้ายซึ่งเป็นวันส่งครู
โนราจะต้องใช้ความรู้ความเชิงไสยศาสตร์อย่างเต็มที่ เพื่อส่งวิญญาณตายายกลับสู่ภพวิญญาณอย่างสงบสุข
และกำจัดวิญญาณฝ่ายร้ายที่เจ้าบ้านไม่ต้องการไม่ให้มาวนเวียนอยู่ใกล้บ้านเจ้าภาพ
เนื่องจากผีในวัฒนธรรมภาคใต้มีหลายพวก
เมื่อทำพิธีชุมนุมครูในวันแรก จะมีทั้งผีที่ต้องการและไม่ต้องการให้มาร่วมงาน ผีที่ต้องการให้เข้าร่วมพิธีก็เช่น ผีเทวดา หรือผีตายาย
จะสามารถเข้ามาอาศัยในโรงโนราได้ ส่วนผีที่ไม่ต้องการ
เช่น ผีตายโหง ผีไม่มีญาติ จะอยู่ด้านนอก ในวันส่งครู
โนราจะต้องส่งผีกลับสู่โลกวิญญาณ ห้ามมายุ่งเกี่ยวกับโลกมนุษย์
ถ้าเป็นผีฝ่ายดีอย่างผีครูหมอ ผีทิศ ก็พอจะขอร้องกันได้ ไม่ต้องตีต้องไล่
แต่ถ้าเป็นผีฝ่ายร้าย
พวกผีตายพรายตายโหงจะเป็นพวกที่พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่องและไม่ค่อยยอมไป
บางครั้งต้องใช้ไม้หวายตีขับไล่ เพื่อให้มั่นใจว่าส่งกลับสู่โลกวิญญาณไปหมดแล้ว ถ้าโนรามีอาคมไม่เก่งพอ ไล่ผีไม่ไป
ผีจะวนเวียนเกาะกินความสุขความเจริญ ของเจ้าบ้านจนล่มจมไปในที่สุด
หนทางแก้ไขมีทางเดียวคือ ต้องเชิญคณะโนราที่เก่งกว่ามาทำพิธีแก้
ด้วยเหตุนี้พิธีส่งครู จึงเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของเจ้าภาพ ช่วงเช้าโนราจะต้องเชิญตายายทั้งหมดมา
"จับลง" ที่ร่างของทรงอีกครั้ง
แต่คราวนี้จะเชิญตายายทุกองค์พร้อมกันเพื่อมารับเครื่องเซ่นเป็นครั้งสุดท้าย
และนัดหมายวันเวลาประกอบพิธีโรงครูครั้งต่อไป
ร่างทรงในวันนี้จึงเป็นร่างของตายายรวม ๆ กัน เวลาจะกินเครื่องเซ่นหรือ "เหวยหมรับ" ร่างทรงจะต้องอมเทียน
เท่ากับจำนวนตายายที่มาเข้าทรงพร้อมกัน ต่อจากนั้น จึงถึงเวลารำส่งครู
เริ่มจากแสดงละครสั้นประมาณ ๒๐ นาที
และร่ายรำประกอบบทนางนกจอกซึ่งมีเนื้อหาเศร้าสะเทือนใจ
ทำเอาลูกหลานบางคนถึงกับน้ำตาคลอและใจหายกับการลาจากครั้งนี้
พิธีกรรมโนราโรงครูนี้ “ เป็นพิธีกรรมแห่งการผูกมัดและตัดขาด คือ
พิธีจะค่อย ๆ สร้างความผูกมัดเป็นระยะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และตัดขาดในวันสุดท้าย
เริ่มตั้งแต่การปลูกโรง โครงสร้างต่าง ๆ เชื่อมต่อกันด้วยการมัด ไม่ใช้การตอกตะปู
เมื่อเข้าสู่พิธีกรรมวันแรกจนถึงวันที่ ๒
โนราจะกล่าวถึงความผูกพันกับพ่อแม่ครูอาจารย์ แทรกอยู่ในบทร้อง และบทรำ
และเมื่อเข้าสู่วันส่งครู บทร้องก็จะมีเนื้อหาในเชิงลาจาก
โนราจะต้องทำพิธีตัดโครงสร้างบางส่วนของโรงออก เพื่อแสดงถึงการตัดขาด
ทว่าการตัดขาดไม่ได้หมายความว่าเลิกเคารพผีบรรพบุรุษ
แต่เป็นการตัดขาดจากเรื่องที่บนบานไหว้ และตัดขาดจากความอาลัยอาวรณ์
เพื่อให้วิญญาณกลับไปอยู่ภพของตน ลูกหลานได้กลับไปใช้ชีวิตตามปรกติ ”
สัญลักษณ์ของการตัดขาดคือสับจีบหมากพลู
และเทียนอันเป็นเครื่องบูชาบรรพบุรุษออก อย่างไร้เยื่อใย ปีนขึ้นไปบนพาไลเพื่อ ตัดจาก บนหลังคาออกสามตับ
และเปิดออกไปด้านนอกจนเห็นท้องฟ้าเพื่อส่งวิญญาณ หลังจากนั้นจึงกลับลงมาที่สาดคล้า
ซึ่งเป็นตัวแทนของแผ่นดินที่ตายายสิงสถิต พลิกสาดกลับอีกด้านหนึ่ง
เพื่อให้โลกวิญญาณและโลกปัจจุบันหลุดขาดออกจากกัน ระหว่างนั้นนายโรงจะว่า "คาถาตัดหนวด"
ซึ่งเป็นคาถาที่ใช้ในการแก้บนให้ขาด หากโนราไม่รู้คาถานี้จะทำพิธีโรงครูไม่ได้
เพราะจะทำให้พันธะสัญญา ระหว่างเจ้าบ้านกับตายายไม่ขาดจากกัน
ตายายจะมาตามทวงสัญญาจนลูกหลานอยู่ไม่สงบ และต้องเสียเงินทำพิธีโรงครู
เพื่อแก้บนให้ขาดอีกครั้ง
เมื่อส่งวิญญาณตายายเรียบร้อยแล้ว
นายโรงจะทำพิธีไล่ผีที่ไม่ต้องการ
โดยตัดชิ้นส่วนเครื่องเซ่นโยนให้ผีที่อยู่ด้านใต้พาไล เพื่อให้ผีออกไปทางนั้น หากใครเผลอไปยืนใต้พาไลเข้าจะถูกโนราเอ็ดเสียงดังเพราะเป็นทางผีผ่าน
เมื่อส่งวิญญาณและไล่ผีเรียบร้อยแล้ว
นายโรงก็ดับเทียนไขทุกดวงเพื่อยุติการติดต่อกับโลกวิญญาณ ถือเป็นอันเสร็จพิธี
สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ
แม้ว่าความเชื่อเรื่องตายาย จะยังไม่จางหายไปจากจิตใจ ของลูกหลานโนรา
แต่ความนิยมในการตั้งโรงครูแบบดั้งเดิมอาจลดน้อยลง
เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการนี้แต่ละครั้งค่อนข้างสูง
ชาวบ้านหลายคนจึงหันไปประกอบพิธีกรรมรูปแบบอื่น
ที่สามารถตอบสนองความต้องการทางจิตใจ ตามฐานะทางเศรษฐกิจของตนได้
ขอขอบคุณเนื้อหาโดยคุณวันดี
สันติวุฒิเมธี
ศึกษารายละเอียดและข้อมูลโดย โนราบรรดาศักดิ์ พิทักษ์ศิลป์
ศึกษารายละเอียดและข้อมูลโดย โนราบรรดาศักดิ์ พิทักษ์ศิลป์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น