วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เกียรติยศและศักดิ์ศรีแห่งคำว่าโนรา

เกียรติยศและศักดิ์ศรีแห่งคำว่าโนรา
                          คนพื้นเมืองแต่ก่อนถือกันว่า ศิลปะการแสดงเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา เป็นศาสตร์ชั้นแนวหน้าที่ทุกคนต้องเรียนรู้ ต้องสนใจ และพยายามทำให้ได้

(รูปโนราคล้ายขึ้หนอน)

                          เพราะเป็นเกียรติยศศักดิ์ศรีชื่อเสียงอันสูงส่งไม่ยิ่งหย่อนกว่าตำแหน่งสมุหเทศาภิบาล ข้าหลวงหรือผู้ว่าราชการจังหวัดทีเดียว เพราะเป็นธรรมเนียม ของผู้ชายจะไปสู่ขอลูกสาวใคร ฝ่ายพ่อตาแม่ยาย เขาจะต้องมีความภูมิใจในลูกเขย โดยจะต้องถามปัญหา 2 ข้อ ให้ตอบก่อน คือ  รำโนราเป็นหรือไม่     และ   ขโมยควายเป็นหรือไม่ ถ้าไม่เป็นหรือขาดความรู้ความสามารถ เขาไม่พึงพอใจ ก็จะไม่ยอมยกลูกสาวให้ เพราะถือว่าเป็นบุคคลที่ขาดความรู้ความสามารถประสบการณ์ย่อมไม่สามารถจะดูแลเลี้ยงดูลูกเมียได้ ลูกของเขาจะได้รับความทุกข์ยาก เนื่องจากศิลปะการแสดง นอกจากหากินได้แล้ว ยังเป็นเครื่องเชิดหน้าชูตาประดับบารมี คนนับหน้าถือตากว้างขวางเข้าได้ทุกสังคม ผู้คนยกย่องนับถือย่อมเป็นเครื่องช่วยให้การดำรงชีวิตเจริญก้าวหน้า เมื่อเลิกเล่นมีวิชาติดตัวก็ยังเป็นครูถ่ายทอดวิชาแก่ลูกศิษย์หากินได้อีกจนตาย เป็นนายอำเภอ เป็นผู้ว่า เป็นเทศา มีถอดได้มีเกษียณแต่การเป็นนายโรงหรือโนราไม่มีใครถอดได้ไม่มีเกษียณ ไปทางไหนก็มีคนนับหน้าถือตา เพราะมีแต่สร้างความนิยมรักใคร่ตลอดชีวิต
                          ส่วนที่ถามเรื่อง การลักขโมยควายทำได้หรือป่าวนั้น ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องลักขโมย หากเพื่อจะได้ล่วงรู้คุณสมบัติคนว่า มีความเป็นลูกชายใจถึงกล้าได้กล้าเสีย มีความเป็นนักสู้ เป็นนักเลงรู้จักต่อสู้แข่งขันดิ้นรน สามารถปกป้องคุ้มครองวัวควายเครื่องมือหากินและครอบครัวของตนให้อยู่รอดได้หรือไม่ ถือเป็นภูมิปัญญาในการพิทักษ์ชีวิตและทรัพย์สินสามารถเป็นที่พึ่งพาของครอบครัวได้ อันแสดงถึงวิถีชีวิตการครองเรือน ต้องมีความเข็มแข็งอดทนเป็นผู้นำ มีความรู้ความสามารถ นอกจากรู้จักทำมาหากินแล้ว ยังต้องฉลาดมีไหวพริบทันเพื่อน รักษามรดกทรัพย์สมบัติที่สร้างไว้ได้อีกด้วยนั่นเอง เพราะสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมยุคโบราณมีความจำเป็นต้องรู้จักรักษาตัวรอดเป็นยอดดี เป็นทั้งบู๊และบุ๋นความสามารถรอบตัว จึงถือเป็น คนเต็มคน

(รูปการแสดงมะโย่ง)

                          มโนราห์เป็นการแสดงที่มีฐานรากกำเนิดกลุ่มเดียวกับ มะโย่งซึ่งมีอิทธิพลอินเดียใต้ผสมอยู่และกล่าวกันว่าดั้งเดิมอาจจะเกิดที่เมืองปัตตานี แล้วได้แพร่ไปยังดินแดนปลายแหลมมลายูและหมู่เกาะต่างๆ เนื่องจากเมืองลังกาสุกะ(ปัตตานียุคโบราณ)  เป็นเมืองศูนย์กลางที่สำคัญบนแหลมมลายูตอนล่าง และติดต่อค้าขายรับวัฒนธรรมอินเดียมาก่อน เดิมเป็นละครที่ยังไม่มีแบบแผนชัดเจน หนักไปทางการเต้นการร่ายรำไม่ได้เล่นเป็นเรื่องราว ต่างฝ่ายต่างมีความคิดความนิยมเป็นของตนเอง ชาวอินเดีย อาจจะเข้ามาช่วยเป็นครูเพิ่มเติมให้บ้าง เพราะพิธีกรรมบูชาเทพเจ้าต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์ โดยเฉพาะพิธีตรียัมปวาย จำเป็นต้องมีการร่ายรำประกอบและท่ารำบางท่าของโนราก็ใกล้ไปทางอินเดียปรากฏอยู่ก็เป็นได้ อีกทั้งตามปกติราชสำนักย่อมใกล้ชิดกับพราหมณ์อยู่แล้ว ทางเมืองนครศรีธรรมราชยังมีการร่ายรำทำขบวนแห่มาจนทุกวันนี้ เรียกรำ ปิเหนงทำให้ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาแตกแขนงในรายละเอียดต่างกันออกไปบ้างในแต่ละท้องถิ่น และเกิดปัญหาเรื่องแหล่งต้นกำเนิด

(รูปโนราฝาผนัง)

                          โนราเป็นศิลปะการแสดงชั้นสูงมีกำเนิดจากในรั้ววังเจ้าเมือง จุดเด่นที่การรำ การร้องและการแต่งกาย ยิ่งถ้าเล่นเรื่องที่คนชอบติดใจก็จะยิ่งได้รับความนิยมชมชอบมาก เรื่องที่นิยมเล่นสมัยก่อน คือ เรื่องพระสุธน นางมโนราห์จนติดปากติดใจ จึงเป็นเหตุให้เรียกการแสดงนี้ว่า โนราหรือ มโนราห์ สืบมา แหล่งกำเนิดโนราน่าจะเป็นบริเวณดินแดนแหลมมลายูแต่ครั้งสมัยตามพรลิงค์ หรือสมัยศรีวิชัย ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 อันเป็นช่วงที่เมืองสทิงพระเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เนื่องจากเกิดชุมชนเกิดบ้านเมืองกระจายอยู่หนาแน่นตลอดแถบชายฝั่งตะวันออก นับตั้งแต่ชุมพร ไชยา ลงมาจรด กลันตัน ตรังกานู เมืองต่างๆ มีการติดต่อค้าขายเดินเรือเรียบชายฝั่งไปมาหาสู่กันอยู่ประจำ ลางครั้งก็เลยไปถึงแถบเกาะสุมาตรา เพราะสมัยก่อนต่างเป็นนครรัฐอิสระ ไม่มีเขตแดนกีดกั้น ถือศาสนาเดียวกันเชื่อสายเดียวกัน ศิลปะการแสดงจึงถ่ายทอดกันโดยง่าย จึงเป็นการยากที่จะชี้ว่าดั้งเดิมเกิดจากเมืองใดที่ตำนานการเกิดมโนราห์ชาตรีกล่าวว่า มโนราห์เกิดที่เมืองพัทลุงโบราณ(กรุงสทิงพาราณสี) ก็แสดงเค้ามูลว่าละครมโนราห์เป็นการแสดงประจำราชสำนักมาก่อน ต่อมาจึงแพร่หลายไปสู่ประชาชนทั่วไป และ แหล่งกำเนิดก็น่าจะเป็นกลุ่มเมือง 12 นักษัตร ตั้งแต่สมัยตามพรลิงค์นั่นเอง ซึ่งต่อมายังได้แพร่หลายขึ้นมาสูภาคกลาง ได้กลายเป็นละครชาตรีอีกด้วย

(รูปโนราคล้ายขึ้หนอน)

                          การแต่งกายของโนราคล้ายกับละครชาตรี นุ่งสนับเพลาพร้อม เครื่องทรงครบชุด นอกจากสวมเทริดแบบพื้นเมืองแล้ว การใช้ลูกปัดประดับห้อยระย้าอย่างสวยงามเต็มหน้าอก สวมเล็บยาวทั้ง 10 นิ้ว ก็ทำให้การร่ายรำอ่อนพลิ้วทะมัดทะแมงเฉียบไว ตัวนายพรานบุญ(จำอวด) จะต้องสวมหน้ากากเสมอเรียกว่า หน้าพราน
                          โนรามีท่ารำแม่บท 12 ท่า ที่เรียก ท่าคล้องหงส์ ตลอดจนท่าเทพพนมท่าพรหมสี่หน้า เป็นท่าที่สวยงามนิยมรำกันมาก เรื่องที่นิยมเล่นในสมัยโบราณคือ พระรถเสน และมโนราห์ ในจังหวัดพัทลุงมีชื่อบ้านนามเมือง หรือ ชื่อสถานที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องในละครดังกล่าวนี้อยู่ทั่วไป และมักเป็นโบราณสถานมีอายุเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ การจัดแสดงโนราตามปกติจะจัดให้มีเวลามีงานแก้บน งานเทศกาล รำโรงครู (ไหว้ครู)  เป็นต้น โนราจึงถือเป็นกิจกรรมความบันเทิงทางวัฒนธรรมที่เก่าแก่ สามารถสร้างความสัมพันธ์ทางความคิดและจิตวิญญาณต่อผู้ชมได้อย่างดี จึงมีความสำคัญต่อชีวิตชาวบ้านในตลอดชีวิต เป็นเครื่องแสดงปฏิกิริยาต่อความต้องการของสังคมแสดงให้เห็นปัญหาในสังคม มโนราห์จึงมีบทบาทในการถ่ายทอดประวัติศาสตร์สังคมได้เป็นอย่างดี

(รูปโนราเติม  เมืองตรัง)

                          คณะโนราแห่งประวัติศาสตร์คือ โนราเติมเป็นคนเมืองตรัง ดังวลีทองที่เขาร้องย้ำอยู่เสมอว่า ผมชื่อเติมบ้านเดิมอยู่ตรัง ผู้คนจดจำเอกลักษณ์ของเขาได้แม่นกินใจ และชักใยให้เข้าสู่ภวังค์แห่งความบันเทิงอย่างไม่รู้ตัว โนราเติมยังได้สร้างตำนานสร้างผลงานฝาก วรรคทอง ไว้ก้องหูฝังใจคนรุ่นหลังในการประชันโรงมาจนทุกวันนี้ ไม่มีใครเทียบได้หลายครั้ง เช่น
โนราเฟื่องโยนมาว่า..... ถ้าแพ้ลูกเติมงานเหลิมไม่รำ (เหลิม = งานเฉลิมพระชนพรรษา)
โนราเติมรับโต้ทันควัน.... ถ้าแพ้ลูกเฟื่องถอดเครื่องจำหนำ (จำหนำ = จำนำ)
                          ตอนที่ประชันโรงกับโนราวาดร้องว่า... ไม่เกรงใจพ่อตาโนราวัน จะเอามันให้ฉาดทั้งวาดวิน(ฉาด = หมด) ซึ่งในที่สุดต่อมาโนราเติมซึ่งได้โนราวินพี่สาวเป็นภรรยาอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาก็ได้โนราวาดน้องสาว ซึ่งเป็นลูกโนราวันอีกคนมาเป็นภรรยาจนได้จริงๆ

ที่มา : ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้.--กรุงเทพฯ : สุวีริยาสาส์น, ๒๕๔๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น