ประวัติโนรา

 ตำนานประวัติความเป็นโนรา ตำนานที่๑

               ตำนานที่ ๑  เล่าโดยขุนอุปถัมภ์นรากร (โนราพุ่มเทวา) อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ความว่าพระยาสายฟ้าฟาดเป็นกษัตริย์ครองเมืองๆ หนึ่ง มีชายาชื่อนางศรีมาลา มีธิดาชื่อนางนวลทองสำลี วันหนึ่งนางนวลทองสำลีสุบินว่ามีเทพธิดามาร่ายรำให้ดู ท่ารำมี ๑๒ ท่า มีดนตรีประโคม ได้แก่ กลอง ทับ โหม่ง ฉิ่ง ปี่ และแตระ นางให้ทำเครื่องดนตรีและหัดรำตามที่สุบินเป็นที่ครึกครื้นในปราสาท

            อยู่มาวันหนึ่ง นางอยากเสวยเกสรบัวในสนะหน้าวัง คั้นนางกำนัลเก็บถวายให้เสวย นางก็ทรงครรภ์ แต่ยังคงเล่นรำอยู่ตามปกติ วันหนึ่งพระยาสายฟ้าฟาดเสด็จมาทอดพระเนตรการรำของธิดา เห็นนางทรงครรภ์ทรงซักไซ้เอาความจริง ได้ความเหตุเพราะเสวยเกสรบัว พระยาสายฟ้าฟาดทรงไม่เชื่อ และทรงเห็นว่านางทรงทำให้อัปยศ จึงรับสั่งให้เอานางลอยแพ พร้อมด้วยสนมกำนัล ๓๐ คน แพไปติดเกาะกะชัง นางจึงเอาเกาะนั้นเป็นที่อาศัย ต่อมาได้ประสูติโอรส ทรงสอนให้โอรสรำโนราได้ชำนาญ แล้วเล่าเรื่องแต่หนหลังให้ทราบ ต่อมากุมารน้อยซึ่งเป็นโอรสของนางนวลทองสำลี

       ได้โดยสารเรือพ่อค้าไปเที่ยวรำโนราไปยังเมืองพระอัยกา เรื่องเล่าลือไปถึงพระยาสายฟ้าฟาด ๆ ทรงปลอมพระองค์ไปดูโนรา เห็นกุมารน้อยมีหน้าตาคล้ายพระธิดา จึงทรงสอบถามจนได้ความจริงว่าเป็นพระราชนัดดา จึงรับสั่งให้เข้าวัง และให้อำมาตย์ไปรับนางนวลทองสำลีจากเกาะกะชัง แต่นางไม่ยอมกลับ พระยาสายฟ้าฟาดจึงกำชับให้จับมัดขึ้นเรือพามา ครั้นเรือมาถึงปากน้ำ จะเข้าเมืองก็มีจระเข้ลอยขวางทางไว้ ลูกเรือจึงต้องปราบจระเข้ ครั้งนางเข้าเมืองแล้ว พระยาสายฟ้าฟาดได้ทรงจัดพิธีรับขวัญขึ้น และให้มีการรำโนราในงานนี้โดยประทานเครื่องต้น อันมีเทริด กำไลแขน ปั้นเหน่ง สังวาลพาดเฉียง ๒ ข้าง ปีกนกแอ่น หางหงส์ สนับเพลา ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องทรงของกษัตริย์ให้เป็นเครื่องแต่งตัวโนรา และพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่กุมารน้อยราชนัดดาเป็นขุนศรีศรัทธา 


ตำนานประวัติความเป็นมาโนรา ตำนานที่๒

           ตำนานที่ ๒  เล่าโดยโนราวัด จันทร์เมือง ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ความว่า ท้าวมัทศิลป์ นางกุญเกสี เจ้าเมืองปิญจา มอบราชสมบัติให้เจ้าสืบสาย ราชโอรสขึ้นครองแทน โดยแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดและมอบพี่เลี้ยงให้ ๖ คน ชื่อนายทอง นายเหม นายบุษป์ นายวงศ์ นายตั้น และนายทัน โดยแต่งตั้งให้คนแต่ละคนมีบรรดาศักดิ์และหน้าที่ดังนี้ นายทองเป็นพระยาหงส์ทอง ตำแหน่งทหารเอกฝ่ายขวา นายเหมเป็นพระยาหงส์เหมราช ตำแหน่งทหารเอกฝ่ายซ้าย นายบุษป์เป็นขุนพิจิตรบุษบา ตำแหน่งปลัดขวา นายวงศ์เป็นพระยาไกรยวงศา ตำแหน่งปลัดซ้าย นายตั้นเป็นพระยาหริตันปัญญา ตำแหน่งขุนคลัง และนายทันเป็นพระยาโกนทันราชาให้เป็นใหญ่ฝ่ายปกครอง 

                เจ้าพระยาฟ้าฟาดมีชายาชื่อศรีดอกไม้ มีธิดาชื่อนวลสำลี นางนวลสำลีมีพี่เลี้ยง ๔ คน คือ แม่แขนอ่อน แม่เภา แม่เมาคลื่น และแม่ยอดตอง เมืองนางนวลสำลีเจริญวัย พระอินทร์คิดจะให้มีนักรำแบบใหม่ขึ้นในเมืองกุลชมพู เพิ่มจากหัวล้านชนกันและนมยานตีเก้งซึ่งมีมาก่อน จึงดลใจให้นางนวลสำลีอยากกินเกสรบัว ขณะที่นางกินเกสรบัว พระอินทร์ก็ส่งเทพบุตรไปปฏิสนธิในครรภ์ของนาง จากนั้นมานางรักนางรักแต่ร้องรำทำสนุกสนานแม้เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจะห้ามปราม แต่พบลับหลังก็ยิ่งสนุกสนานยิ่งขึ้น เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจึงสั่งเนรเทศโดยให้จับลอยแพพร้อมด้วยพี่เลี้ยงไปเสียจากเมือง 

            พระยาหงส์ทองกับพระยาหงส์เหมราชเห็นเช่นนั้นจึงวิตกว่า ขนาดพระธิดาทำผิดเพียงนี้ให้ทำโทษถึงลอยแพ ถ้าตนทำผิดก็ต้องถึงประหาร จึงหนีออกจากเมืองเสีย แพของนางนวลสำลีลอยไปติดเกาะกะชัง นางคลอดบุตรที่เกาะนั้นให้ชื่อว่าอจิตกุมาร เมื่ออจิตกุมารโตขึ้นก็หัดร้องรำด้วยตนเอง โดยดูเงาในน้ำเพื่อรำให้สวยงาม และสามารถรำท่าแม่บทได้ครบ ๑๒ ท่า ต่อมาข่าวการรำแบบใหม่นี้ได้แพร่ไปถึงเมืองปิญจา เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจึงให้คนไปรับมารำให้ชาวเมืองดู คณะของอจิตกุมารถึงเมืองปิญจาวันพุธตอนบ่ายโมง เมื่ออจิตกุมารรำคนก็ชอบหลงใหล 

             ฝ่ายนางนวลสำลีและพี่เลี้ยงได้เล่าความหลังให้อจิตกุมารฟัง อจิตกุมารจึงหาทางจนได้เฝ้าพระเจ้าตา เมื่อทูลถามว่าที่ขับไล่นางนวลสำลีนั้นชาวเมืองชอบใจหรือไม่พอใจ เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดว่าไม่รู้ได้ แต่น่าจะพอใจ เพราะเห็นได้จากที่พระยาหงส์ทองและพระยาหงส์เหมราชหนีไปเสียคงจะโกรธเคืองในเรื่องนี้ อจิตกุมารถามว่าถ้าพระยาทั้งสองกลับมาจะชุบเลี้ยงหรือไม่ เมื่อเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดว่าจะชุบเลี้ยงอีก อจิตกุมารจึงทำพิธีเชิญพระยาทั้งสองให้กลับโดยทำพิธีโรงครู ตั้งเครื่องที่สิบสองแล้วเชิญครูเก่าแก่ให้มาดูการรำถวายของเขาและเชิญมากินเครื่องบูชา เมื่อเชิญครูนั้นได้เชิญพระยาทั้งหกซึ่งเป็นพี่เลี้ยงเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดขึ้นกินเครื่องบูชาด้วย

             เมื่อทุกคนได้เห็นการรำก็พอใจหลงใหลแต่เสียตรงที่เครื่องแต่งกายเป็นผ้าเก่าๆ ขาด ๆ จึงหยิบผ้ายกที่จัดไว้เป็นเครื่องบูชาให้เปลี่ยนแทน พอเปลี่ยนแล้วเห็นว่ารำสวยยิ่งขึ้น แจ้าพระยาสายฟ้าฟาดเห็นดังนั้นจึงเปลื้องเครื่องทรงและถอดมงกุฎให้ และกำหนดเป็นหลักปฎิบัติว่า ถ้าใครจะรับดนราไปรำต้งอมีขันหมากให้ปลูกโรงรำกว้าง ๙ ศอก ยาว ๑๑ ศอก ให้โรงรำเป็นเขตกรรมสิทธิ์ของคณะผู้รำ  อจิต กุมารรำถวายครูอยู่ ๓ วัน ๓ คืน พอถึงวันศุกร์จึงเชิญครูทั้งหมดให้กลับไป เสร็จพิธีแล้วเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดให้เปลี่ยนชื่อธิดาเพื่อให้สิ้นเคราะห์จาก นางนวลสำลีเป็นศรีมาลาให้เปลี่ยนชื่อจิตกุมารเป็นเทพสิงสอน แล้วพระราชทานศรและพระขรรค์ให้ด้วย จากนั้นพระเทพสิงสอนได้เที่ยวเล่นรำยังที่ต่างๆ พระยา ๔ คนขอติดตามไปเล่นด้วย ขุนพิจิตรบุษบากับพระยาไกรยวงศา เล่นเป็นตัวตลก สวมหน้ากากพราน จึงเรียกขานต่อมาว่าขุนพราน พระยาพราน พระยาโกนทันราชาแสดงการโถมน้ำส่วนพระยาหริตันปัญญาแสดงการลุยไฟให้คนดู จึงได้นามเรียกขานกันต่อมาว่า พระยาโถมน้ำ และพระยาลุยไฟ ตามลำดับ  เมืองปัญจา เจ้าเมืองชื่อท้าวแสงอาทิตย์ ชายาชื่อกฤษณา มีโอรสชื่อศรีสุธน ศรีสุธนมีชายาชื่อกาหนม มีพรานปืน ๑ คน คอยรับใช้ชื่อบุญสิทธิ์ พรานออกป่าล่าเนื้อมาส่งส่วยทุก ๗ วัน ครั้งหนึ่งหาเนื้อไม่ได้ แต่ได้พบนาง ๗ คนมาอาบน้ำที่สระอโนตัด ครั้นกลับมาเข้าเฝ้าพระราชาและทูลว่าหาเนื้อไม่ได้ จึงถูกภาคทัณฑ์ว่าถ้าหาเนื้อไม่ได้อีกครั้งเดียวจะถูกตัดหัว พรานจึงคิดจะไปจับนางทั้ง ๗ คนมาถวายแทนสัก ๑ คน  นางทั้ง ๗ คนเป็นลูกท้าวทุมพร เดิมท้าวทุมพรเป็นนายช่างของเมืองปัญญา ท้าวแสงอาทิตย์ให้สร้างปราสาทให้สวยที่สุด 

             ครั้นสร้างเสร็จท้าวแสงอาทิตย์เกรงว่าถ้าเลี้ยงไว้ต่อไปจะไปสร้างปราสาทให้เมืองอื่นอีกและจะทำให้สวยกว่าปราสาทเมืองปัญจา จึงสั่งให้ฆ่าท้าวทุมพรเสีย ท้าวทุมพรหนีไปอยู่เมืองไกรลาส มีเมียชื่อเกษณี มีลูกสาว ๗ คน ชื่อจันทรสุหรี ศรีสุรัต พิม พัด รัชตา วิมมาลา และโนรา เมื่อลูกสาวจะไปอาบน้ำที่สระอโนตัด ท้าวทุมพรได้ทำปีกหางให้บินไป ครั้งหนึ่ง ขณะนางทั้ง ๗ คนอาบน้ำที่สระอโนตัด พรานบุญลักปีกหางนางโนรา แล้วไปขอร้องพญานาคเกลอมาช่วยจับพญานาคนี้เดิมเคยถูกครุฑเฉี่ยว พรานบุญสิทธิ์ได้ช่วยชีวิตไว้ ครั้นพรานขอร้องจึงให้การช่วยเหลือ พรานนำนางโนราไปถวายพระศรีสุธนๆ รับไว้เป็นชายา ต่อมาข้าศึกเมืองพระยาจันทร์ยกมาตีปัญจา พระศรีสุธนออกศึก แล้วตามไปปราบถึงเมืองพระยาจันทร์ อยู่ข้างหลังนางกาหนมหาอุบายจะฆ่านางโนรา โดยจ้างโหรให้ทำนายว่าพระศรีสุธนมีพระเคราะห์จะไม่ได้กลับเมือง ถ้าไม่ได้ทำพิธีบูชายัญและการบูชายัญนี้ให้เอานางโนราเผาไฟ นางโนราจึงออกอุบายขอปีกหางสวมใส่เพื่อรำให้แม่ผัวดูก่อนตาย และให้เปิดจาก ๗ ตับ เพื่อรำถวายเทวดา 

             นางรำจนเพลินแล้วบินหนีไปเมืองไกรลาส พระสุธนตามไปจนได้รับกลับเมือง ต่อมาพรานบุญสิทธิ์ได้พบน้ำสุราที่คาคบไม้ ดื่มแล้วนึกสนุก เดินทางไปพบเทพสิงสอนเที่ยวรำเล่นอยู่ จึงสมัครเข้าเป็นพราน เมื่อเทพสิงสอนอายุได้ ๒๕ ปี เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดให้บวช ในพิธีบวชมีการตัดจุกใหญ่โต พรานบุญจึงนำเรื่องนางโนราทีตนพบมาเล่าและดัดแปลงขึ้นเล่นในครั้งนั้น โดยเล่นตอนคล้องนางโนราที่เรียกว่า "คล้องหงส์"


 ตำนานประวัติความเป็นมาโนรา ตำนานที่๓

ตำนานที่ ๓ จากนายซ้อน ศิวายพราหมณ์ ศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ( พ.ศ. ๒๕๐๘) 

เล่าไว้เป็นกลอน ๔ ว่า

ก่อเกื้อกำเนิด        คราเกิดชาตรี

แต่ปางหลังยังมี   เมื่อคราวครั้งตั้งดิน

บิดาของเจ้า           ชื่อท่านท้าวโกสินทร์

มารดายุพิน           ชื่อนางอินทรกรณีย์

ครองเมืองพัทลุง เป็นกรุงธานี

บุตรชายท่านมี     ชื่อศรีสิงหรณ์

ทุกเช้าทุกค่ำ          เที่ยวรำเที่ยวร่อน

บิดามารดร            อาวรณ์อับอาย

คิดอ่านไม่ถูก        เพราะลูกเป็นชาย

ห้ามบุตรสุดสาย   ไม่ฟังพ่อแม่

คิดอ่านไม่ถูก        จึงเอาลูกลอยแพ

สาวชาวชะแม่      พร้อมสิบสองคน

มาด้วยหน้าใย       ที่ในกลางหน

บังเกิดลมฝน        มืดมนเมฆัง

คลื่นซัดมิ่งมิตร    ไปติดเกาะสีชัง

สาวน้อยร้อยชั่ง    เคืองคั่งบิดร

จับระบำรำร่อน    ที่ดอนเกาะใหญ่

ข้าวโพดสาลี         มากมีถมไป

เทวาเทพไท          ตามไปรักษา

รู้ถึงพ่อค้า              รับพาเข้าเมือง

ฝ่ายข้างบิตุรงค์     ประทานให้เครื่อง

สำหรับเจ้าเมือง   เปลื้องให้ทันที

ตั้งแต่นั้นมา          เรียกว่าชาตรี

ประวัติว่ามี            เท่านี้แหละหนา


ตำนานประวัติความเป็นมาโนรา ตำนานที่๔

                ตำนานที่ ๔ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างถึงหลักฐานอันเป็นตำนานที่ได้ไปจากนครศรีธรรมราช ดังปรากฏในหนังสือตำนานละครอิเหนาว่า"ในคำไหว้ครูของโนรามีคำกล่าวถึงครู เดิมของโนราที่ชื่อขุนศรัทธาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา มีความผิดต้องราชทัณฑ์ ถูกลอยแพไปเสียจากพระนคร แพขุนศรัทธาลอยออกจากปากน้ำไปติดอยู่ที่เกาะสีชัง 

          พวกชาวเรือทะเลมาพบเข้าจึงรับไปส่งขึ้นที่เมืองนคศรีธรรมราชหรือเมืองนคร ขุนศรัทธาจึงได้เป็นครูฝึกโนราให้มีขึ้นที่เมืองละครเป็นเดิมมา" ทั้งยังประทานความเห็นอีกว่าขุนศรัทธานี้เป็นตัวละครที่มีชื่อเสียงมากใน กรุงศรีอยุธยาโดยเฉพาะเมื่อเล่นเรื่อง "นางมโนห์รา" ครั้นถูกเนรเทศไปอยู่เมืองนครก็หัดให้ขาวเมืองเล่นแบบเก่า ชาวเมืองนครซึ่งชอบพูดห้วนสั้น โดยตัดคำต้นทิ้งจึงเรียกละครชนิดนี้ว่า "โนรา" 



ตำนานประวัติความเป็นมาโนรา ตำนานที่๕

               ตำนานที่ ๕ เป็นตำนานละครชาตรีกรมศิลปากรปรากฎในหนังสือการเล่นของไทย สรุปความว่า ท้าวทศมาศ นางสุวรรณดารา ครองกรุงศรีอยุธยา มีพระธิดา ชื่อนางนวลสำลี ครั้นนางนวลสำลีเจริญวัย เทพยดาได้มาปฏิสนธิในครรภ์โดยที่นางมิได้มีสวามี ความทราบถึงท้าวทศวงศ์ จึงทรงให้โหรทำนายได้ความว่า ชะตาบ้านเมืองจะบังเกิดนักเลงชาตรี ท้าวทศวงศ์เกรงจะอับอายแก่ชาวเมือง จึงให้เอานางลอยแพไปเสีย เทพยดาบันดาลให้แพไปติดเกาะสีชังแล้วเนรมิตศาลาให้นางอยู่อาศัย 

          เมื่อครรภ์ครบทศมาสก็ประสูติพระโอรส เพพยดานำดอกมณฑาสวรรค์มาชุบเป็นนางนมชื่อแม่ศรีมาลา แล้วชุบแม่เพียน แม่เภา เป็นพี่เลี้ยง ต่อมานางศรีมาลาและพี่เลี้ยงกุมารไปเที่ยงป่า ได้เห็นกินนรร่ายรำในสระอโนตัดนทีก็จำได้ เมื่อกุมารชันษาได้ ๙ ปี เทพยดาให้นามว่า พระเทพสิงหร แล้วเทพยดาเอาศิลามาชุบเป็นพรานบุญ พร้อมกับชุบหน้ากากพรานให้ด้วย พรานบุญเล่นรำอยู่กับพระเทพสิงหรได้ขวบปีก็ชวนกันไปเที่ยวป่า 

         ขณะนอนหลับใต้ต้นรังในป่าเทพยดาลงมาบอกท่ารำให้ ๑๒ ท่า ทั้งเนรมิตทับให้ ๒ ใบ เนรมิตกลองให้ใบหนึ่ง แล้วชุบขุนศรัทธาขึ้นให้เป็นโนราเมื่อพระเทพสิงหลและพรานบุญตื่นขึ้นเห็นขุน ศรัทธา ทับ และกลอง ก็ยินดี ชวนกันกลับศาลาที่พัก จากนั้นเทพยดาก็เนรมิตเรือให้ลำหนึ่ง บุคคลทั้งหมดจึงได้อาศัยเรือกลับอยุธยา เที่ยวเล่นรำจนลือกันทั่วว่า ชาตรีรำดีนัก ท้าวทศวงศ์จึงรับสั่งให้เข้าเฝ้า ทอดพระเนตรเห็นนางนวลสำลีก็ทรงจำได้ ตรัสถามความหนหลังแล้วโปรดปรานประทานเครื่องต้นให้พระเทพสิงหรใช้เล่นชาตรี ด้วย 

 
ตำนานประวัติความเป็นมาโนรา ตำนานที่๖

           ตำนานที่ ๖ เล่าโดยนายพูน เรืองนนท์ดังปรากฎในหนังสือ "การละเล่นของไทย" ของมนตรี ตราโมทว่า  "พระเทพสิงหรกับแมศรีคงคาเป็นสามีภรรยากัน เป็นผู้มีความสามรถแสดงละครชาตรีได้อย่างเลิศ แต่เป็ตคนเข็ญใจต้องเที่ยงแสดงละครเร่ร่อนไปในที่ต่างๆ เพื่อหาเลี้ยงตัว การแสดงละครของพระเทพสิงหรกับแม่ศรีคงคามีศิลปะถึงขนาดใครๆ ก็เลื่องลือไปทั่วเมือง 

        ตลอดจนนางฟ้าเทวดาก็พากันมาดูจนเพลิดเพลิน และลืมขึ้นไปเฝ้าพรอิศวรๆ ก็กริ้วตรัสว่า จะจัดละครโรงใหญ่ขึ้นแสดงเพื่อประขัน และจะทำลายการแสดงของพระเทพสิงหร และแม่ศรีคงคา พระวิสสุกรรมได้ทูลทัดทานอย่างไรก็ไม่ทรงเชื่อ พระวิสสุกรรมจึงบอกให้พระเทพสิงหรและแม่ศรีคงคาว่า เวลาแสดงให้ทำที่ประทับของพระองค์ไว้พระองค์จะเสด็จมาคุ้มครองไม่ให้แพ้พระอิศวร " จากตำนานนี้จึงเป็นธรรมเนียมของการเล่นโนราว่า ต้องทำเสาผูกผ้าแดงปักไว้กลางโรง มิฉะนั้นต้องสมมติเสาอื่นขึ้นแทน 

ไม่มีความคิดเห็น: