วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ครูหมอโนราอภินิหารของการรักษาโรค



ครูหมอโนราอภินิหารของการรักษาโรค

                           ครูหมอโนรา  คือบรรพบุรุษของโนรา  บางทีจะเรียกว่า ครูหมอตายาย  คือโนราจะนับถือครูหมอหรือครูโนรา  และนับถือบรรพบุรุษของตน  ซึ่งเรียกว่า ตายาย  คนทางภาคใต้ส่วนใหญ่มีตายายเป็นโนรา  เพราะสมัยก่อนนิยมโนรากันมาก  คนดี คนเก่ง ต้องสามารถรำโนราได้ 


                 ผู้ที่รำโนราถือว่าโนรามีครูแรง  ใครทำผิดจารีต  หรือทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่เหมาะ  ไม่ควร  ก็จะถูกครูหมอกระทำให้มีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา เวลาได้รับความทุกข์ยากต่าง ๆ ก็จะบนครูหมอ  ให้พ้นจากความทุกข์ยาก หรือลูกหลานตายายโนราบางคนที่เจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำการรักษาด้วยหมอหลวงแล้วแต่ก็ยังไม่หายจากอาการป่วย ก็จะเชื้อเชิญครูหมอโนราเข้าประทับทรงเพื่อถามถึงสาเหตุของอาการป่วยและวิธีการรักษา และเมื่อพ้นจากความทุกข์ยากแล้วก็จะแก้บนด้วยการเล่นโนรา   โรงครู  หรือแก้บนด้วยการถวายหัวหมู  เป็นต้น ในการแก้บนก็จะเชิญครูหมอโนราเข้าประทับทรง  เพื่อรับของแก้บนอีกครั้งหนึ่ง  ครูหมอโนราจึงถือเป็นเทพที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีอยู่หลายองค์  เช่น แม่ศรีคงคา  หรือแม่ศรีมาลา  พ่อเทพสิงหร  ขุนพราน  ยาพราน  พรานบุญ (หน้าทอง)  พรานทิพ       พรานเทพ  พ่อขุนศรัทธา  หลวงสุทธิ์  นายแสน  หลวงคงวังเวน  พระยาถมน้ำ  พระยาลุยไฟ       พระยาสายฟ้าฟาด  พระยามือเหล็ก  พระยามือไฟ   ตาหลวงคง  เป็นต้น  เวลาจะเข้าประทับทรงในแต่ละครั้งแล้วแต่ว่าครูหมอองค์ใดจะเข้าประทับ       การประทับทรงครูหมอโนราจึงเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งของชาวภาคใต้ที่มีบรรพบุรุษเป็นเชื้อสายโนรา การประทับทรง หรือการชื้อเชิญตาหลวงเข้าทรงเป็นการทำพิธีเพื่อเชื้อเชิญวิญญาณบรรพบุรุษที่เป็นโนรา  ซึ่งเรียกว่า ตายายโนรา หรือ  ตาหลวง มาประทับทรงลูกหลานที่เป็นคนทรง เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ  เพื่อความมีสวัสดิ์มงคลแก่ชีวิตครอบครัว  หรือเพื่อถามอาการเจ็บป่วยของลูกหลานที่รักษาหมอหลวงแล้วไม่หาย  หรือแก้บนในกรณีที่ได้บนบานไว้ก่อนหน้านี้


                ๑. บุคคลที่เกี่ยวข้อง
                         ๑.๑ คนทรง หรือร่างทรง  (ลูกหลานตายายโนรา ที่บรรพบุรุษยอมรับให้เป็นคนทรง  ทั้งนี้มีอยู่ ๒ กรณี  คือ 
๑.๑.๑ กรณีที่ลูกหลานต้องการจะเป็นคนทรงเพื่อสืบทอดเชื้อสายโนราเพื่อไม่ให้สูญหาย กรณีนี้ลูกหลานจะแต่งตัวเป็นคนทรงแล้วมานั่งเรียงหน้ากันในการประกอบพิธีกรรมโนราโรงครู  เพื่อที่จะให้ครูหมอ หรือตาหลวงประทับทรง  หากตาหลวงพอใจหรือต้องการลูกหลานคนใดเป็นคนทรงก็จะประทับทรงลูกหลานคนนั้น  และลูกหลานทั้งหมดก็จะยอมรับลูกหลานคนนั้นเป็นคนทรงประจำตระกูลหรือเชื้อสายโนราสายนั้น
๑.๑.๒ กรณีที่ลูกหลานไม่ต้องการจะเป็นคนทรง  แต่ครูหมอ หรือ       ตาหลวงต้องการจะให้เป็นผู้สืบทอด  กรณีนี้  จะมีลูกหลานบางคนที่ไม่ประสงค์จะเป็นคนทรง หรือร่างทรง  จึงไม่ได้เข้าร่วมพิธีกรรมในโนราโรงครูเพื่อที่จะให้ครูหมอเลือก  แต่ด้วยพลังแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของครูหมอโนรา (ตามที่เชื่อกันว่าโนรามีครูแรง)  เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมโนราครู ลูกหลานคนนั้นก็จะมีความกระวนกระวายใจ และมีแรงดลใจให้เดินทางไปยังสถานที่ที่ประกอบพิธีกรรมโนราโรงครู  เมื่อไปถึงยังสถานที่นั้น ๆ ก็จะแต่งตัวเป็นคนทรงแล้วเข้าไปนั่งรวมกับลูกหลานคนอื่น ๆ ครูหมอหรือตาหลวง ก็จะประทับทรงลูกหลานคนนั้น เพื่อเป็นผู้สืบทอดเชื้อสายโนราต่อไป
               ๑.๒ ผู้สื่อสาร  คือผู้ที่มีหน้าที่ซักถาม สื่อกับครูหมอ  ขณะที่ประทับทรง 
             ๑.๓ เจ้าภาพ  หรือลูกหลานที่ต้องการจะเชื้อเชิญครูหมอมา เพื่อถามถึงสาเหตุการเจ็บป่วย หรือความเดือดร้อน และวิธีการรักษา
              ๑.๔ ผู้ร่วมพิธี  คือลูกหลานตายายโนรา  หรือบุคคลอื่น ๆ ที่เข้าร่วมทำพิธี


๒.  สถานที่
         สถานที่ที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมประทับทรงของครูหมอโนรา  มี ๓ ลักษณะ ดังนี้
               ๒.๑ ในโรงโนรา  (กรณีที่แก้บนหรือทำพิธีในพิธีโนราโรงครู หรือ โนราลงครู)
              ๒.๒ บ้านของลูกหลานตายายโนรา  ที่มีการตั้งแคร่ และตั้งเพดาน   เพื่อแสดงถึงการเป็นลูกหลานตายายโนราอย่างเต็มตัว เพื่อบูชา /พร้อมรับครูหมอ หรือตาหลวงมาประทับเพื่อดูแลทุกข์สุขของลูกหลาน
          ๒.๒ บ้านของคนทรง โดยปกติจะมีการตั้งแคร่ และตั้งเพดาน  เพื่อบูชารับครูหมอ หรือตาหลวงอยู่แล้ว

๓. เครื่องบูชาครูหมอโนรา
                เครื่องบูชาครูหมอโนรา (กรณีที่ทรงที่บ้าน)  ประกอบด้วย
 ๓.๑ ดอกไม้  (มักจะนิยมดอกดาวเรือง) จำนวน  ๑๙  ดอก  จัดเรียงบนแคร่หน้าครูหมอ    ดอก  วางในพานขันหมาก    ดอก  ใส่บนเพดาน     ดอก
 ๓.๒ เงิน   ๒๒  บาท  จัดเรียงบนแคร่หน้าครูหมอ  ๙ บาท  (ใช้เหรียญบาท)  ใส่บนเพดาน  ๑ บาท  ใส่พานขันหมาก  ๑๒ บาท  (ส่วนที่จะให้ค่าตอบแทนคนทรงนั้น  แล้วแต่เจ้าภาพจะเห็นเหมาะสม)
๓.๓ ธูป    ดอก   จุดบูชาในกระถางธูป
๓.๔ เทียน   จำนวนขึ้นอยู่กับอาหารที่นำมาบูชา  แต่จะใช้ปักเรียง บนแคร่หน้าครูหมอ    เล่ม  ใส่ในขันหมาก ๑ เล่ม  และปักลงในอาหารที่นำมาบูชา  ทุกอย่าง ๆ ละ  ๑ เล่ม
๓.๕ หมากพลู  ๑๐  คำ  ใส่ในพานขันหมาก    คำ   ใส่พานสำหรับให้ตาหลวงกินขณะประทับทรงแล้ว    คำ
๓.๖ อาหาร  (กรณีที่แก้บน)   ได้แก่  หัวหมู  ข้าวแกงใส่ปิ่นโต ๑ เถา ขนมโค  เหนียวเหลือง เหนียวขาว   ผลไม้  และอาหารอื่น ๆ ตามที่เห็นเหมาะสม
๓.๗  น้ำ   สำหรับทำน้ำพระพุทธมนต์ ๑ขัน    สำหรับให้ครูหมอหรือตาหลวงบ้วนปาก    แก้ว
๓.๘ เหล้าขาวเล็กน้อย  ใส่แก้ว  เพื่อให้ครูหมอดื่มพอเป็นพิธี

ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรม
๑.   ลูกหลานที่เป็นเจ้าภาพ  จัดสถานที่  เตรียมสิ่งของบูชาวางจัดลงบนผ้าขาว
๒.     เมื่อทุกอย่างพร้อม  ก็จะเชิญคนทรงขึ้นนั่งบนแคร่ 
๓.   เจ้าภาพ   จุดเทียน ๙ เล่ม อธิษฐาน หรือกาดครูหมอถึงสาเหตุที่มาใน
วันนี้  ว่าจะให้ครูหมอช่วยเรื่องใด  หรือมาเพื่อแก้บนก็ขอให้ครูหมอมารับของแก้บนด้วย  เพื่อจะได้ขาดเหมฺรฺย  แล้วยื่นขันหมากให้คนทรง  เมื่อคนทรงรับขันหมากแล้วก็จะกาดครูเพื่อเชื้อเชิญครูหมอหรือตาหลวงเข้าประทับทรง
                  ๔. สักครูหนึ่งครูหมอหรือตาหลวงก็ประทับทรง  จะสังเกตได้จากอาการสั่นของคนทรง 
                  ๕. ผู้สื่อสารก็จะถวาย  หมาก พลู ๑ คำ  น้ำ ๑ แก้ว  และเหล้าขาว เล็กน้อย ใส่แก้ว ๑ แก้ว
                  ๖. ผู้สื่อสารก็จะถามว่าเป็นครูหมอหรือตาหลวงองค์ใดที่มาประทับทรง   ครูหมอก็จะบอกชื่อว่าเป็นองค์ใด  แล้วจะถามต่อว่าลูกหลานมีธุระอันใดกันที่ได้เชื้อเชิญมา  ลูกลานก็จะบอกจุดประสงค์  (กรณีที่แก้บน  ครูหมอก็จะสอนให้กล่าวตาม) เป็นอันเสร็จพิธีแก้บน  และจะถามต่อว่าลูกหลานจะถามอะไรอีกหรือไม่  ถ้าลูกหลานถามก็จะตอบทุกคำถาม  จนกว่าลูกหลานจะหมดคำถาม  ก็จะบอกว่าถ้าไม่มีอะไรกูจะไปแล้ว  ก็บัด (สลัด)  เป็นอันเสร็จพิธี
๗.  หลังจากนั้นคนทรงก็จะกลับเป็นคนเดิม  แล้วจะถามลูกหลานที่มาร่วมพิธีว่า 
เมื่อสักครูที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไรบ้าง  เป็นองค์ใด  หยาบ (หมายถึงเกรี้ยวกราด หรือดุ) หรือไม่   ลูกหลานก็จะนั่งคุยกันถามข่าวคราวกัน  แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน
                   ๘. เจ้าภาพมอบเงินค่าตอบแทนให้คนทรง
                            
          ความเชื่อเรื่องครูหมอโนรา หรือตายายโนรา เป็นความเชื่อของชาวไทยในภาคใต้ที่มีบรรพบุรุษเป็นโนรา  เป็นเรื่องที่ยากแก่การพิสูจน์ เป็นความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่หากมองในแง่มุมของประโยชน์และคุณค่าที่มีต่อสังคม จะเป็นความเชื่อที่แฝงไว้ด้วยการอบรมสั่งสอนบุตรหลาน  คนรุ่นหลังให้มีความกตัญญูต่อบุพการี เป็นส่งเสริมให้คนมีคุณธรรม จริยธรรม โดยเฉพาะเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ   ส่งเสริมให้คนทำความดี และเป็นการสร้างความสัมพันธ์ และความสามัคคีในหมู่เครือญาติให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ขอขอบคุณที่มาของเนื้อหา // ศศิประภา  จันทรโชตะ
ศึกษาและค้นคว้าข้อมูลโดย //  โนราบรรดาศักดิ์   พิทักษ์ศิลป์
เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม  ๒๕๕๔
 htp://krunora.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น