วันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

โนรา ศาสตร์แห่งการรักษาโรค




โนรา ศาสตร์แห่งการรักษาโรค

"เอวองค์ยามอ่อนช่างอ้อยอิ่ง     ยามเยื้องยิ่งแกว่งกวัดสะบัดไหว
ปะ ทิง เทิ่ง เทิ่ง ปะ ประโคมไป      อ่อนแข็งเคลื่อนไหวได้สมงาม
รู้ฝืนรู้ปรับบังคับร่าง    เป็นท่าทางคล้องใจให้ไหวหวาม
สีหน้าสื่อบทบาทวาดร่างตาม   สืบความงามตามอย่างทางโนรา"

                                                           สุรินทร์   มุขศรี : ประพันธ์ 
(คัดจาก นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม” : ๒๕๔๐)

              มโนห์รา  หรือ โนรา  ตามความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึง  มหรสพพื้นบ้านที่มีการสืบทอดมาอย่างยาวนานและเป็นที่นิยมแพร่หลายในท้องถิ่นทางภาคใต้มาแต่อดีต  โดยถือเป็นการละเล่นที่มีลีลาร่ายรำประกอบจังหวะและมีท่วงทำนองเร่าร้อน เน้นเครื่องดนตรีประเภทตีและเป่าซึ่งให้ความสำคัญกับการร่ายรำเป็นส่วนใหญ่  รองลงมาคือการทำบท (แสดงท่าทางประกอบบทร้อง
ซึ่งมีการเล่นเป็นกลอน  มีทั้งกลอนที่แต่งเอาไว้ก่อนแล้วและกลอนมุดโต (กลอนสด)   โดยใช้คำร้องเป็นภาษาถิ่นทางใต้ บางโอกาสก็มีการแสดงตามคติความเชื่อในลักษณะของพิธีกรรมต่างๆ ขณะที่บางโอกาสก็แสดงเป็นเรื่อง สำหรับเรื่องที่จะเล่นนั้นมักให้ความสำคัญเป็นอันดับสุดท้ายเหตุนี้ หากมองแค่เพียงผิวผ่าน โนรา ก็คือ ศิลปะเพื่อความบันเทิง” ประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่หากมีการศึกษาให้ลงลึกถึงแก่นแกนของความจริงแล้วจะพบว่า  ภายใต้ความงดงามของศิลปะแห่งบทร้องและการร่ายรำนั้น  โนรา”  ยังมีความลึกลับซับซ้อน  ถือเป็นลักษณะของวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่มีรากฐานของความเชื่อโดยผ่านโลกทัศน์ของชาวบ้านอันสามารถบันดาลให้เกิดความสุขหรือความทุกข์ได้  โดยเฉพาะการเจ็บป่วย  โนราได้เข้ามามีบทบาททั้งในด้านของผู้ที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยและในด้านของผู้ที่ให้การรักษาเยียวยาโดยผ่านขั้นตอนของพิธีกรรมที่ละเอียดอ่อน เป็นรูปแบบการรักษาเยียวยาที่มีความน่าสนใจและน่าศึกษายิ่ง

โรคหรืออาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากอำนาจของครูหมอโนรา

              โรคหรืออาการเจ็บป่วยที่ชาวไทยภาคใต้มีความเชื่อว่าเกิดจากอำนาจหรือการกระทำของสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ  ในกรณีนี้หมายถึง ครูหมอโนรา (ครูหมอโนราถือเป็นบรรพบุรุษของโนรา  สามารถรำโนราได้  คนไทยทางภาคใต้ส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นโนรา เพราะเชื่อว่าเป็นศิลปะชั้นสูง มีต้นกำเนิดมาจากกษัตริย์  คนที่จะรำโนราได้จึงหมายถึงเป็นคนที่มีบุญญาบารมี ดังนั้นในอดีตคนส่วนใหญ่จึงมีการหัดรำโนรากันโดยเหตุนี้ทำให้คนไทยทางภาคใต้มักมีเชื้อสายของโนราซึ่งการจะหายขาดได้นั้นต้องได้รับการยินยอมจากครูหมอโนราก่อน เมื่อผู้ใดเกิดการเจ็บป่วยหรือมีอาการที่เชื่อว่าครูหมอโนราเป็นผู้กระทำก็จะมีพิธีกรรมเฉพาะสำหรับการเยียวยารักษาหรือแก้ไขภาวะการเจ็บป่วยนั้น  โดยผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยสามารถติดต่อครูหมอผู้กระทำโดยผ่านร่างทรงเพื่อให้ครูหมอยินยอมรักษาเยียวยาและยกโทษให้   โรคหรืออาการเจ็บป่วยนั้นมีลักษณะเฉพาะตามความเชื่อซึ่งชาวไทยทางภาคใต้ได้ให้ความหมายของโรคหรืออาการนั้นว่า  โนราย่าง” (โนราย่าง (มโนห์ราย่าง) เป็นอาการที่บุคคลป่วยกระเสาะกระแสะ  เนื่องจากครูหมอโนราให้โทษ จะรักษาเยียวยาหรือหาหมอหรือทำการรักษาอย่างไรก็ไม่หาย  อาการมีแต่ทรงกับทรุดแต่จะไม่ถึงตาย  ส่วนใหญ่มักซูบผอมไม่ยอมกินข้าวกินปลา   ซักถามสิ่งใดก็ไม่ค่อยพูดหรือพูดแต่จับใจความไม่ได้  ร่างกายมีสภาพเขียวคล้ำคล้ายผิวเกรียมไหม้)    ซึ่งอาการเช่นนี้ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า  อาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งต่อไปนี้
                 . ลูกหลานผู้สืบเชื้อสายของครูหมอโนราไม่บวงสรวงสักการะบูชาครูหมอโนราซึ่งถือเป็นเชื้อสายต้นหรือขาดการเซ่นไหว้ครูตามวาระที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา   เช่น  เดิมเคยจัดบวงสรวงทุกๆ ๒  ปี  แต่เมื่อครบกำหนดกลับไม่มีการจัดบวงสรวง  ก็จะมีเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยได้
                 . ได้มีการบนบานต่อครูหมอมโนห์ราไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง     ครั้นเป็นจริงตามที่ได้บนบานไว้ก็มิได้มีการแก้บนตามพันธะสัญญา  (ซึ่งภาษาทางโนราเรียกพันธะสัญญาว่าเหฺมฺรย (อ่านว่า ม-เหรย โดยออกเสียง ควบกล้ำ)) เกิดการลงโทษจากครูหมอโนรา  ทำให้เกิดการเจ็บป่วยเนื่องจากการผิดพันธะสัญญานั้นเรียกว่า  ถูกเหฺมฺรย
                 . มีการกระทำการหรือประพฤติตนที่ไม่เหมาะสม    เช่น    พูดจาหรือแสดงพฤติกรรมในเชิงดูถูกดูแคลนปรามาศครูหมอหรือกรณีที่หิ้งบูชาเกิดชำรุดหักพังแล้วมิได้มีการซ่อมแซม นอกจากนี้การเก็บเครื่องดนตรี  เครื่องแต่งกาย  เครื่องประดับของโนราไว้ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม   เช่น  ใต้ถุนบ้านหรือวางไว้ระเกะระกะ  ไม่เป็นระเบียบ   เหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกครูหมอลงโทษได้


              อาการเจ็บป่วยที่เกิดจากครูหมอลงโทษจะแตกต่างจากอาการเจ็บป่วยทั่วๆ ไป    เพราะผู้ป่วยมักแสดงอาการหรือกิริยาบางอย่างให้เห็นเป็นนัยๆ ว่าครูหมอเป็นผู้กระทำ เช่น  นอนละเมอเป็นกาพย์กลอนหรือร้องรำแบบโนรา, ส่งเสียงร้องตกใจว่าจะมีใครมาทำร้าย,   บ่นว่าอยากจะกินอาหารที่ครูหมอโปรดปรานเป็นพิเศษเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ตลอดจนมีเหตุการณ์ที่ครูหมอหรือภูติผีอื่นๆ มาเข้าทรงและบอกให้ทราบถึงสาเหตุของการเจ็บป่วย  เป็นต้น 
              จากลักษณะเฉพาะของอาการที่ส่อเหตุเป็นนัยๆ เช่นนี้เอง  ทำให้ญาติพี่น้องหรือผู้ใกล้ชิดของผู้ป่วยต้องหาคนกลางเพื่อมาติดต่อกับครูหมอเรียกขั้นตอนการติดต่อนี้ว่า   “การเชื้อ หมายถึง การเชื้อเชิญครูหมอมาไต่ถามพูดคุยสำหรับคนกลางโดยทั่วไปมักเป็นโนราอาวุโสหรือเป็นหมอยากลางบ้านที่มีความรู้ทางด้านไสยศาสตร์หรือคาถาอาคมมีการค้นหาสาเหตุโดยการสังเกตและสอบถามผู้ใกล้ชิดหรือญาติพี่น้องของผู้ป่วยบางครั้งถึงขั้นเชิญครูหมอมาเข้าทรงเพื่อไต่ถามให้รู้แน่ชัด เมื่อรู้ความแล้วก็ขออภัยโทษต่อครูและให้สัญญาว่า เมื่ออาการเจ็บป่วยหายเป็นปกติแล้วจะให้ผู้ป่วยกระทำตามที่ครูหมอปรารถนา ซึ่งในพิธีกรรมก็คือการใช้โนรารำแก้บนในพิธี โนราลงครู (“มโนห์ราลงครู”  เป็นการแสดงโนราเพื่อเชิญวิญญาณบรรพบุรุษที่เป็นโนรา ซึ่งหมายถึงครูหมอโนรามาเข้าทรงลูกหลานเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษเพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่ครอบครัว หรือเพื่อการแก้บนตามที่ได้บนบานไว้  พิธีโนราลงครูอาจจะจัดปีละครั้ง ,ปีเว้นปีหรือ ๓ ปีต่อครั้ง  ขึ้นอยู่กับความสะดวกของเจ้าภาพหรือตามความยินยอมผ่อนผันของครูหมอโนราจากการเข้าทรงในครั้งก่อนแต่ห้ามไม่ให้เลิกจัดเพราะครูหมอจะลงโทษ    โอกาสที่จะจัดพิธีนี้มักเป็นช่วงหลังฤดูการเก็บเกี่ยว ดินฝ้าอากาศปลอดโปร่ง เช่น เดือน ๔ เดือน ๖ หรือเดือน ๙ หรือเดือนมีนาคม พฤษภาคมและเดือนตุลาคมตามเดือนสากลหากมีการติดต่อกับครูหมอโนราโดยคนกลางแล้วปรากฏว่าผู้ป่วยยังไม่หายจากการเจ็บป่วย   ก็จะมีการติดต่อในลักษณะเดิมอีก ๒-๓ ครั้ง  แต่หากไม่ได้ผลอีกก็จะเลิกล้มความคิดว่าการเจ็บป่วยดังกล่าวเกิดจากการกระทำของครูหมอโนรา ต้องแสวงหาการรักษาอย่างอื่นต่อไป (แต่จากการสอบถามชาวบ้านผู้อาวุโสหลายท่าน  ได้คำตอบว่า  ส่วนใหญ่หากได้มีการติดต่อกับครูหมอโนราโดยคนกลางแล้ว  ผู้ป่วยมักจะหายทุกราย  และนำไปสู่ขั้นตอนของการใช้โนรารำแก้บนในพิธีโนราลงครูต่อไป)

พิธีกรรมกับกระบวนการรักษาเยียวยา

พิธีกรรมสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรักษาเยียวยามี ๒ พิธีกรรม คือ
              ๑. พิธีกรรมหาสาเหตุการเจ็บป่วย
                       หลังจากที่ผู้ป่วยแสดงอาการเจ็บป่วยที่สามารถให้ความหมายเฉพาะว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากการกระทำของครูหมอโนราแล้ว  ญาติผู้ป่วยหรือผู้ใกล้ชิดก็จะดำเนินการจัดหาคนกลางมาติดต่อกับครูหมอเพื่อทราบสาเหตุของการเจ็บป่วยและต่อรองเพื่อหาวิธีการแก้ไขต่อไป  ซึ่งขั้นตอนสำคัญๆ สำหรับพิธีกรรมนี้  มีดังนี้
                        ๑.๑  ตั้งสำรับเพื่อการสักการะครูหมอโนราที่ผู้ป่วยหรือญาติให้ความเคารพนับถือ  เรียกการตั้งสำรับนี้ว่า ที่สิบสอง หรือ ข้าวสิบสอง คือสำรับที่ประกอบด้วยถ้วยตะไล ๑๒ ใบ  ใส่อาหารคาวหวาน ๑๒ ชนิด  ใส่เงิน ๑๒ บาท  พร้อมทั้งหมากพลู  เทียน  ข้าวตอกดอกไม้
                         ๑.๒  เมื่อตั้งสำรับเรียบร้อยแล้ว  คนกลางจะทำพิธีเชื้อคือ     การกล่าวเชิญให้ครูหมอมาบอกสาเหตุของการเจ็บป่วย     ขั้นตอนนี้จะมีทั้งคนกลางที่ติดต่อกับครูหมอโนราแล้วนำมาบอกกับผู้ป่วยหรือญาติพี่น้องหรือผู้ใกล้ชิดหรือจะเป็นการเข้าทรงคนกลางเองแล้วให้ผู้ป่วยญาติพี่น้องหรือผู้ใกล้ชิดสอบถามสาเหตุการเจ็บป่วยก็ได้เช่นกัน
                         ๑.๓  เมื่อได้คำตอบแล้วว่าสาเหตุที่ถูกกระทำเกิดจากอะไร  ก็จะมีการหาวิธีการแก้ไข    โดยมีข้อกำหนดของพันธะสัญญาว่าต้องหายจากการเจ็บป่วยภายในเวลากี่วัน    หลังจากนั้นจะให้ทำอะไรบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการรำมโนห์ราแก้บนในพิธีมโนห์ราลงครู (หากไม่หายจากการเจ็บป่วยตามที่มีพันธะสัญญากันไว้  ก็จะไม่มีการดำเนินการตามขั้นตอนใดๆ อีก แต่หากหายตามพันธะสัญญาก็จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนของพิธีกรรมอื่นๆ ต่อไป  พร้อมทั้งกำหนดว่าจะดำเนินการแก้บนได้ในช่วงใด)


              ๒. พิธีกรรมการรำมโนห์ราแก้บน
                       หลังจากที่มีการตกลงร่วมกันระหว่างคนกลางกับครูหมอโนราแล้ว  ขั้นตอนต่อไปก็คือการรำโนราแก้บน โดยจะจัดในพิธีของโนราลงครูซึ่งเป็นการจัดแสดงเพื่อเชิญวิญญาณบรรพบุรุษที่เป็นครูหมอโนรามาเข้าทรงลูกหลานที่รับอาสาเป็นคนทรงเพื่อแสดงให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรษและเพื่อความมีสวัสดิมงคลแก่ชีวิตครอบครัวในระหว่างนี้ก็จะมีการรำโนราถวายเพื่อแก้บนตามที่ได้สัญญากันไว้   หากไม่กระทำตามสัญญาก็อาจจะถูกลงโทษซ้ำอีก   โดยอาการเจ็บป่วยอาจจะเหมือนเดิมหรืออาจจะรุนแรงกว่าเดิมก็ได้  ซึ่งขั้นตอนต่างๆ ในพิธีกรรมนี้  มีดังนี้


                            ๒.๑  เมื่อถึงกำหนดวันที่จะดำเนินการรำโนราลงครูเพื่อแก้บนแล้ว   ก็จะมีการสร้างโรงโนรา   ตั้งเครื่องบวงสรวงและเครื่องเซ่นไหว้บูชา  โดยเครื่องบวงสรวง   ประกอบด้วย  หัวหมู  ไก่  เหล้า  หมาก  พลู  บุหรี่   ธูป  เทียน   ข้าวตอก  ดอกไม้   ของคาว  ของหวานและมะพร้าวอ่อน  รวมแล้วครบจำนวน ๑๒ อย่าง  ส่วนเครื่องเซ่นไหว้บูชาประกอบด้วย  บายศรีและดอกไม้ธูปเทียน   หลังจากที่ครูหมอเข้าทรงแล้วจะต้องขึ้นไปสำรวจเครื่องบวงสรวงบูชาเหล่านี้ (เครื่องบวงสรวงจะวางไว้บนศาลาเล็กๆ บนโรงโนราทางทิศตะวันออก  ซึ่งต้องทำเป็นบันไดทอดเอาไว้ทางซ้ายมือของศาลาเพื่อให้ครูหมอที่เข้าทรงปีนขึ้นมาสำรวจเครื่องบวงสรวงบูชาได้สะดวก    ส่วนทางขวามือของศาลาจะมี เทริด  หน้าพราน และ เครื่องแต่งตัวโนรา  ซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยแขวนไว้เพื่อเป็นเครื่องบูชา)


                              ๒.๒  วันแรกของพิธีกรรม (พิธีการของการลงโรง  ครูโนราจะต้องเข้าประจำโรงในวันพุธตอนเย็น  ซึ่งตามปกติจะสิ้นสุดรายการในวันศุกร์ตอนบ่ายหรือตอนเย็น หากวันศุกร์ตรงกับวันพระก็ไม่สามารถทำพิธีได้ ต้องหยุดและเลื่อนไปทำพิธีส่งครูหมออันเป็นขั้นตอนของการลาโรงในวันเสาร์ซึ่งถือเป็นวันเสร็จพิธีแทน) ในวันแรกของพิธีกรรมนี้จะมีการแสดงโนราให้คนดูเหมือนกับการแสดงในโอกาสธรรมดาที่เป็นการละเล่นหรือมหรสพทั่วๆ ไป   การแสดงเริ่มตั้งแต่ตอนพลบค่ำจนถึงดึกถึงจะเลิก   วันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นวันพฤหัสบดีจะเป็นวันเริ่มพิธีลงครู   โดยวันนี้จะมีการรำไหว้ครูตลอดครึ่งวันตอนช่วงเช้า (เรียกการรำไหว้ครูนี้ว่าแต่งพอก ในการรำแก้บนจะขาดขั้นตอนนี้ไปไม่ได้  เพราะหากไม่ได้มีการแต่งพอก  การแก้บนนั้นก็จะไม่สำเร็จ โอกาสที่จะกลับมาเจ็บป่วยอีกมีความเป็นไปได้สูง   ที่สำคัญโนราที่มีสิทธิ์ในการรำลงครูต้องเป็น โนราใหญ่” (มโนห์ราที่ผ่านการปวารณาเป็นโนราโดยสมบูรณ์แล้ว  โดยผ่านการบวชโนราแล้ว คือ  มีการผูกข้อมือ ผูกผ้าและครอบเทริด) เท่านั้น)


                             ๒.๓  หลังจากรำแต่งพอกเสร็จ  ต่อจากนั้นก็เริ่มพิธีเชิญครูหมอโนราเข้าทรงโดยโนราใหญ่จะรำโดยใช้ ท่ารำเพลงครู ๑๒ ท่า ประกอบการ เล่นบท ๑๒   (บท ๑๒ นี้ ถือเป็นเพลงครู  ผู้เล่นบทนี้จะหยิบยกเอานิยาย ๑๒ เรื่องมาเล่น  ทำบทเพลงทับ  เพลงโทน  อย่างละเรื่องๆสั้นๆ เพื่อเป็นการสักการะครู  หากไม่มีการเล่นบท ๑๒ ในขั้นตอนนี้ถือว่าพิธีไม่สมบูรณ์  การแก้บนหรือการแก้เหฺมฺรยซึ่งเป็นพันธะสัญญาจะไม่เป็นผล  อาการเจ็บป่วยจะไม่หายขาดหลังจากนั้นโนราใหญ่จะขับร้องบทเชื้อครูหมอโนรามาเข้าทรง (โดยปกติมีคนทรงประจำอยู่แล้ว   แต่หากคนทรงตายไปก่อนจะต้องเลือกคนทรงใหม่ทดแทนลูกหลานที่เป็นเชื้อสายของครูหมอจะต้องมานั่งพร้อมหน้ากันเพื่อรอรับครูหมอซึ่งเป็นบรรพบุรุษของตน เมื่อโนราใหญ่ขับร้องบทเชื้อครูหมอ   ดนตรีจะทำเพลงเชิดประกอบ  ถึงตอนนี้ร่างกายคนทรงจะสั่นแสดงว่าครูหมอเริ่มมาเข้าทรงแล้ว  เรียกขั้นตอนนี้ว่า  จับลง


                               ๒.๔  หลังจากมีการเชื้อแล้ว  ครูหมอจะเริ่มมาเข้าทรง  โดยเริ่มจากครูหมอที่เป็นบรรพบุรุษร่วมของทุกตระกูล   ซึ่งมโนห์ราผู้เป็นผู้เชื้อจะรู้ดีว่ามีใครบ้าง  อาทิ  ตาหมอเทพ ตาหมอเฒ่า  ตาเทพสิงขร ฯลฯ จากนั้นก็จะเชิญครูหมอที่ผู้ป่วยเคารพบูชามาทรง    ซึ่งการเชื้อนี้ต้องเชื้อมาเข้าทรงทีละองค์    องค์เดิมต้อง บัด(สลัด) หรืออกจากร่างทรงเสียก่อน  ถึงจะเชิญครูหมอองค์ต่อไปได้  ครูหมอแต่ละองค์เมื่อจับลงหรือเข้าทรงแล้วก็จะขึ้นศาลที่ได้จัดเตรียมเอาไว้เพื่อตรวจดูเครื่องสักการะบูชา   แล้วกลับลงมานั่งเสวยหรือกินเทียน ๓  ครั้ง อาจกินหมากหรือสูบบุหรี่ร่วมด้วย  ต่อจากนั้นก็มีการพูดคุยซักถามลูกหลานถึงเรื่องทั่วๆ ไป    ครูหมอบางองค์อาจไม่ขึ้นไปบนศาลแต่จะขอเครื่องทรงมาสวมและมีการร่ายรำตามแบบโนราโบราณให้ลูกหลานหรือผู้ที่อยู่ร่วมในพิธีกรรมดู


                                ๒.๕  ขั้นตอนสุดท้ายของพิธีกรรมรำโนราแก้บนคือ  ขั้นตอนในวันสุดท้ายของพิธีลงครู  โดยพิธีเริ่มจากการเชื้อครูหมอทุกองค์มาลงอีกครั้งในคนทรงคนเดิม มีการซักถามลูกหลานทั้งปัญหาทั่วๆ ไปและปัญหาการเจ็บป่วย  มีการนัดแนะพิธีที่จะมีในครั้งต่อไปและตกลงต่อรองระหว่างกันว่าครูหมอต้องการอะไร  ให้ลูกหลานทำอย่างไรบ้าง จากนั้นจะมีการสรงน้ำครูหมอร่วมกัน  ระหว่างที่ครูหมอเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว  ลูกหลานที่บนบานอะไรไว้ก็เตรียมแก้บน  โดยสำรับต่างๆ ที่ใช้สำหรับการแก้บนต้องจัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อย  เพื่อที่ครูหมอจะได้เสวยหลังจากที่แต่งตัวเสร็จแล้ว  ต่อจากนั้นจะเป็นการรำโนราแก้บนตามที่ได้ทำพันธะสัญญากันไว้    ซึ่งขั้นตอนนี้โนราใหญ่จะต้องมีการ   รำคล้องหงส์และ รำแทงเข้(แทงจระเข้) ด้วย จึงจะถือว่า เหฺมฺรยขาด หรือเป็นการหมดพันธะสัญญาต่อกัน   หลังจากนั้นลูกหลานจะเข้าไปหมอบกราบครูหมอเพื่อขอศีลขอพรโดยทั่วกันการรักษาเยียวยาก็ถือว่าเสร็จสิ้นอย่างแท้จริง  หลังจากหมดกิจธุระหรือเรื่องราวระหว่างกันแล้ว    โนราจะตีเครื่องดนตรีเป็นเพลงเชิดอีกครั้งเพื่อส่งครูหมอกลับ  ครูหมอก็ออกจากร่างทรง  เป็นอันเสร็จพิธีกรรมทั้งหมด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก/ คุณวิวัฒน์   วนรังสิกุล   (สังคมวัฒนธรรมและสุขภาพ)
ศึกษาค้นควาหาข้อมูลและตรวจทานแก้ไขข้อมูลแสดงหน้าเว็บใหม่โดย/ โนราบรรดาศักดิ์  พิทักษ์ศิลป์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น