ประวัติศาสตร์แห่งวงการโนราเอกลักษณ์ใต้หนึ่งเดียวในโลก
โนรานับเป็นความบันเทิงทางวัฒนธรรมที่ฝังลึกในเลือดเนื้อของคนภาคใต้
โนรามีลักษณะของพิธีกรรมอยู่ในตัว บางครอบครัวต้องทำพิธีแก้บนเลี้ยงผีตายายโนรา
ทั้งเพื่อเซ่นผีบรรพบุรุษ และเพื่อความสงบเรียบร้อยความรุ่งเรืองของชีวิตสมาชิกในบ้าน
(ภาพเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ)
ความนิยมในโนราของชาวบ้านภาคใต้นั้นมีมากขนาดที่ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ภายหลังเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)
เคยทรงบันทึกไว้เมื่อ พ.ศ.2452 ว่า “ ค่าหาก็ ๒
บาทเท่านั้น ถ้าเป็นละครบางกอกก็ตาย แต่มโนห์ราพอแล้ว เพราะไม่ต้องซื้ออะไรกิน
ไปไหนชาวบ้านต้องเลี้ยงตลอดทาง ราวกับจ้าวหรือขุนนางผู้ใหญ่ ”
และสำหรับชาวบ้านภาคใต้แล้ว เป็นนายโรงโนราดูจะมีเกียรติมีศักดิ์ศรี
มีอิสระในตัวยิ่งกว่าอาชีพเจ้านายข้าราชการอันสูงส่งยิ่งในสมัยนั้นเป็นไหนๆ
ด้วยเหตุดังที่เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธทรงเล่าเรื่องนายโรงโนราคนหนึ่ง คือ นายคลิ้ง ว่า “นายคลิ้งนั้นเจ้าคุณรัษฎาก็ได้เคยใช้เป็นนายสนิทอยู่เหมือนกัน
ภายหลังออกจากเจ้าคุณไปเป็นกำนัน แต่ไม่พอใจได้ลาออกเสียจากตำแหน่งกำนัน
ออกไปเล่นมโนห์ราตามเดิม นายคลิ้งเป็นคนที่ช่างพูดมาก เจ้าคุณรัษฎาท่านเล่าว่า
เมื่อลาออกจากตำแหน่งกำนัน ในกรมหลวงดำรงได้รับสั่งถามว่าเหตุใดจึงลาออก
นายคลิ้งมูลชี้แจงว่า เป็นกำนันที่ไหนจะสู่เป็นมโนห์ราได้
อย่าว่าแต่จะให้เป็นกำนันเลย ถึงแม้จะให้เป็นอำเภอ หรือเจ้าเมือง หรือเทศาก็ไม่ต้องการ
สู้เป็นมโนห์ราไม่ได้ เป็นมโนห์ราจะเฆี่ยนคนฆ่าคน หรือทำอะไรก็ได้เท่ากับเทศา (คือในจังหวัดโรงมโนห์ราเวลาเขาเป็นนายโรง อำนาจเขาก็เต็มที่) แต่เขาดีกว่าเทศาเพราะเทศายังมีคนถอดได้ ตัวเขาไม่มีใครถอดได้”
(ภาพโนรารำถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว)
“พวกมโนห์ราที่จริงอยู่ข้างจะมีเก่ง
เพราะต้องเป็นคนที่คล่องและเข้าใจอะไรๆ ง่ายๆ จึงจะป็นมโนห์ราดีได้
เจ้าคุณรัษฎาท่านเอามาใช้อยู่หลายคน สังเกตว่าเป็นคนคล่องๆ ดีมาก
และมักมีวิชาเบ็ดเตล็ดต่างๆ
อย่างเช่นเมื่อเย็นนี้ได้ยินเสียงสุนัขมาเห่าหอนอยู่ข้างๆ ตำหนัก นายเหล
(หมาย่าเหล-ผู้เขียน) วิ่งออกไปตรวจ เข้าใจว่าเป็นพวกพ้องของตน
ประเดี๋ยวก็วิ่งเข้ามา จึงเกิดสงสัยพากันออกไปดูก็ไม่เห็นสุนัขอันใด
นายเกื้อพูดขึ้นว่า เห็นจะเป็นคนเสียแล้ว เพราะเสียงเห่าแหบไป
สืบดูก็ได้ความว่าเป็นพวกมโนห์ราเห่าเลียนสุนัข ต้องยอมว่าเหมือนมาก”
(ภาพโนราจากอินเทอร์เน็ต)
ด้วยความสามารถพิเศษของพวกโนราเช่นนี้เองทำให้โนราได้รับความนิยมอย่างยิ่งในหมู่คนภาคใต้
โนราจึงยังคงความรุ่งเรืองมาแต่อดีตจนถึงโมงยามปัจจุบัน
อันน่าจะเป็นเพราะมหรสพโนรามีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมสำคัญของชีวิตคือใช้แสดงแก้บน
ใช้แสดงในพิธีโนราโรงครู
นอกจากนี้ในสมัยโบราณที่การสื่อสารยังไม่เจริญด้วยเทคโนโลยีเช่นปัจจุบัน
เหล่านักแสดงโนราก็ยังเป็นผู้ส่งข่าว
สื่อข่าวสำคัญให้ชุมชนภาคใต้ได้รู้ความเคลื่อนไหวของแต่ละชุมชนโดยทั่วถึงกันด้วยได้มีการพยายามศึกษากำเนิด
ยุคสมัย และที่มาของโนรากันมาอย่างละเอียด และได้ข้อสรุปว่า
โนราหรือที่แต่เดิมเรียกว่า “ชาตรี” นั้น เป็นการแสดงของทางภาคใต้ที่มีมาไม่น้อยกว่า
๔๐๐ ปี นักวิชาการหลายท่านสันนิษฐานว่าอาจจะมีมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัย
หรือไม่ก็ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙
เป็นอย่างน้อย ศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ อดีตคณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรตั้งข้อสังเกตว่า
โนราคงเป็นอารยธรรมของอินเดียใต้ที่แพร่เข้ามาในภาคใต้ของประเทศไทย “ราวพุทธศตวรรษที่ 13-16
ซึ่งเป็นช่วงที่อาณาจักรศรีวิชัยเจริญรุ่งเรือง” และงานวิจัยของสถาบันทักษิณคดีศึกษาระบุเพิ่มเติมว่า
โนราคงจะเจริญรุ่งเรืองขึ้นในดินแดนรอบลุ่มทะเลสาบสงขลาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย
โนราพุ่มเทวดาเคยอธิบายให้ฟังว่า รอบทะเลสาบสงขลาทั้งฝั่งตะวันตกคือพัทลุง
และฝั่งตะวันออกคือสงขลา สามารถสืบสาวถึงพวกโนราได้ตลอด
โนราที่มีชื่อเสียงล้วนกระจุกตัวอยู่ตั้งแต่ปากพะยูน
เชาไชยสน ลำปำ ทะเลน้อย ระโนด กระแสสินธุ์ สะทิงพระ สิงหนคร หาดใหญ่ สงขลา
ควนเนียง เข้มข้นอยู่รอบทะเลสาบทั้งสิ้น จากนั้นจะค่อยๆ จางลง หลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับโนรา คือภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดเกาะแก้วสุทธาราม
จังหวัดเพชรบุรี เหนือกรอบประตูด้านหน้าข้างซ้ายของพระประธาน
ที่เขียนภาพพระเมรุพระพุทธเจ้านั้น ยังประกอบไปด้วยภาพมหรสพหลายชนิด ดังเช่นโขน
ญวนหก ต่อยมวย ไต่ลวด
และโนราหญิงชายสองคนกำลังซัดท่ายกแขนได้ฉากอย่างงามสง่าอยู่ระหว่างระทา
ร้านดอกไม้ไฟที่ใช้จุดในงานพิธี โนราทั้งสองสวมเทริด
สวมหาง ใส่เล็บงอน มีกำไรรัดข้อมือ รัดต้นแขน ฝ่ายหญิงนั้นเปลือยอก แต่โดยรวมๆ
แล้ว เครื่องแต่งกายดูคล้ายคลึงกันมากกับโนรายุคปัจจุบัน
ที่สำคัญคือจิตรกรรมชุดนี้มีจารึกอยู่ที่ผนังด้านหนึ่งระบุว่าเขียนมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2277 หรือ จ.ศ.1096 ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี นี่คือภาพเขียนโนราเก่าแก่ที่สุดที่พบในปัจจุบัน
และสามารถใช้เป็นหลักฐานชี้ชัดว่าอย่างน้อยในสมัยอยุธยาตอนปลาย
มหรสพโนราเคยแพร่หลายมาแล้ว และมิได้จำกัดวงอยู่แต่เฉพาะในภาคใต้ด้วย หากแพร่หลายไกลขึ้นมาอย่างน้อยก็ถึงเมืองเพชรบุรี
ในปัจจุบันนี้คนชมโนราจะได้เห็นกันว่าในคณะโนรานั้นจะมีตัวละครเด่นอยู่สองฝ่ายคือครูโนราที่รำตามพิธีแบบแผน
และครูพรานที่รำสนุก พร้อมปล่อยมุกตลกทะลึ่งตึงตังให้หัวเราะครื้นเครง
ซึ่งการหัดให้เป็นโนรานั้นไม่ได้ทำกันง่ายๆ
แต่ต้องอาศัยใจรักและการฝึกฝนอย่างหนักตั้งแต่วัยเด็ก
(ภาพโนรานครศรีธรรมราช)
“ครูคล้อย
วิเชียร ครูโนราจังหวัดตรังเล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ครูอายุ 7
ขวบก็เริ่มขับกลอนป็นบทดอกสร้อยแล้วเพราะมีเชื้อสายปู่ย่าเป็นโนรามา
หลังจากนั้นพออายุ 8 ขวบ ครูก็เริ่มหัดโนรา ครูจำได้ว่าต้องเอามือใส่ครกทิ่มข้าว
(ครกตำข้าว) แล้วเอาสากกดไว้ให้มืออ่อน เจ็บร้องไห้อยู่หลายวัน
กว่ามือนิ้วจะเปลี่ยนสภาพเป็นอ่อนเช้งตวัดมือให้รำโนราได้คล่อง
ครั้นเริ่มเป็นหนุ่ม มีพุงพลุ้ย หน่วยก้านปฏิภาณดีแล้ว ครูจึงขยับมารำพราน”
“ฝ่ายอาจารย์สวงน บัวเพชร คนรัตภูมิ เมืองสงขลา
วัย 32 ปี ซึ่งรำพรานได้สนุกมากๆ ก็เล่าให้ฟังว่า ออกพรานยากกว่ารำโนรา
เพราะโนราคนรำไม่เป็นยังหัดได้ แต่ออกพรานยากตรงลูกเล่น มุกตลกเข้ามาพูดแทรกให้ขำ
จึงไม่ค่อยมีใครสมัครใจรำพรานเท่าใดนัก อีกอย่างหนึ่งคือ คนรำพรานต้องหุ่นให้ด้วย ยิ่งอ้วนพุงพลุ้ยเท่าไหร่ยิ่งดี
คนผอมเป็นพรานไม่ได้ หากหุ่นไมให้ ท่าไม่ไป มายืนทื่อมะลื่ออยู่กลางโรง
ต่อให้ใจรักอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะพรานได้”
(ภาพโนราจากอินเทอร์เน็ต)
ในคณะโนรานั้น
พวกที่รำพรานคือรสชาติอันถึงใจและสนุกครื้นเครง
โดยเฉพาะเวลาขึ้นเวทีอย่างทะลึ่งตึงตัง เผชิญหน้ากับฝ่ายรำโนราอันศักดิ์สิทธิ์และมีแบบแผน
เป็นการปะทะสังสรรค์ของพลังสองขั้วที่เข้มข้นไม่แพ้กัน วัฒนธรรมการรำโนราในทุกวันนี้มีการปรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้แลดูทันสมัยขึ้นมาก
ใช้การปักเลื่อมให้มีความระยับไปทั้งตัว ดนตรีประกอบกลายเป็นวงสตริงรุ่นใหม่
มีกลองชุด กีตาร์ อิเล็กโทน เครื่องดนตรีไฟฟ้าให้จังหวะเสียงดังสนั่น
ไม่ใช่เครื่องดนตรี ปี่ โทน ฉับ กรับ ตะโพนเหมือนในวันวาน
โนรารุ่นใหม่ที่เล่นตามงานเทศกาลใหญ่ๆ งานวัด งานทางวัฒนธรรมของจังหวัดภาคใต้
มีพัฒนาการให้ทันโลกสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วกันมากแล้ว จนถึงปัจจุบันโนราก็ยังเป็นที่นิยมของชาวบ้านภาคใต้อยู่มาก
เพราะโนรามิใช่เพียงมหรสพแต่เป็นพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
หลายบ้านยังต้องจัดพิธีรำโนราให้กับเชื้อสายบรรพบุรุษตายายโนราอย่างละเว้นไม่ได้
ในหลายพื้นที่นั้นมีการจัดพิธีโนราโรงครูเป็นงานใหญ่ประจำปีสืบเนื่องมาอย่างเคร่งครัด
ดังเช่นที่วัดท่าคุระ ตำบลคลองรี อำเภอสท้งพระ จังหวัดสงขลา
ในวันพุธแรกของข้างแรมเดือน 6 ชาวบ้านในชุมชนจะจัดพิธีสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว
พอวันรุ่งขึ้นคือวันพฤหัสบดีจะมีงานรำโนราแก้บน โดยผู้มีเชื้อสายโนรา
ลูกหลานตายายโนรา คนทรงครูหมอโนรา หรือผู้ที่เป็นโนราโดยตรง
จะต้องบวงสรวงเข้าร่วมในพิธีนี้จะละเลยหรือเพิกเฉยไม่ได้
ด้วยเชื่อกันว่าจะได้รับการลงโทษจากครูหมอโนราอย่างรุนแรง
ที่มาของข้อมูล
/// นิพัทธ์พร เพ็งแก้ว
คอลัมน์ บันเทิงศิลป์ นิตยสาร “วัฒนธรรม”
ปีที่ ๕๑ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม – กันยายน ๒๕๕๕
ศึกษาค้นคว้าข้อมูลโดย // โนราบรรดาศักด์ พิทักษ์ศิลป์
เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๖
คอลัมน์ บันเทิงศิลป์ นิตยสาร “วัฒนธรรม”
ปีที่ ๕๑ ฉบับที่ ๒ กรกฎาคม – กันยายน ๒๕๕๕
ศึกษาค้นคว้าข้อมูลโดย // โนราบรรดาศักด์ พิทักษ์ศิลป์
เมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๖
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น