วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

พิธีสมโภชและสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว (งานตายายย่าน)



พิธีสมโภชและสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว (งานตายายย่าน)
"เจ้าแม่อยู่หัว" เป็นพระพุทธรูปทองคำปางสมาธิ ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ เซนติเมตร สูงประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร ชาวบ้านท่าคุระ และตำบลใกล้เคียงเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง และเคารพเจ้าแม่อยู่หัวเช่นเดียวกับครูหมอโนรา ดังนั้นจึงต้องจัดโนราโรงครูมารำถวายทุกวันพุธแรกของข้างแรมเดือน ๖ ของทุกปี (ถ้าวันตรงกับวันพระ ให้เลื่อนเป็นพุธถัดไป) เรียกว่า "งานตายายย่าน"

                   พิธีสมโภชและสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว (งานตายายย่าน) เป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวบ้านท่าคุระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา จัดเป็นประจำปีในวันพุธแรกของข้างแรมเดือนหก
โดยจะมีกิจกรรมดังนี้
                   เริ่มด้วยการอัญเชิญพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัว ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมืองออกจากผอบที่ประดิษฐานอยู่ในห้องภายในมณฑป ในวัดท่าคุระ โดยการจัดเตรียมเครื่องถวาย ได้แก่ เชี่ยน(ตะกร้า) หมากพลู เสื่อ หมอน และให้ชาวบ้านที่เป็นผู้ชายแต่งตัวนุ่งขาวห่มขาว คล้ายพราหมณ์พร้อมด้วยพระสงฆ์ ๓ รูป ทำพิธีอัญเชิญเจ้าแม่อยู่หัว โดยแก้ผ้าที่ห่ออยู่ ๙ ชั้น เป็นผ้า ๙ สี (ยกเว้นสีดำ) แต่ละชั้นผูกมัดด้วยสายสิญจ์ พระสวดบังสุกุล โนรา ตีเครื่องรับ ครูหมอเป็นผู้ทำพิธี
                   เมื่ออัญเชิญออกมาแล้ว ก็จะประดิษฐานไว้ที่สำหรับสรงน้ำ ภายในมณฑป ประเพณีงานตายายย่าน จะมีการสมโภชโดยการรำโนราโรงครู(โนราโรงครู หมายถึง การรำโนราอย่างพิธีกรรมตามแบบฉบับดั้งเดิม คือ ต้องเลือกสถานที่ปลูกสร้างโรงรำให้ถูกทิศ มีศาล และเครื่องเซ่นบวงสรวงครบถ้วน) เริ่มด้วยการตั้งเครื่องโหมโรง ประกาศเชิญราชครู รำเบิกโรง รำแม่บท ออกพราน รำคล้องหงส์ รำแทงเข้และแสดงเรื่องชาวบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นลูกหลานของเจ้าแม่อยู่หัว ต่างก็ผลัดเปลี่ยนกันรำแก้บนในโรงด้วย ที่บนว่าจะรำเป็นพรานก็เอาหัวพรานมาสวมแล้วรำพอเป็นพิธีคนละท่าสองท่า โนราโรงครูจะรำต่อเนื่องกัน ๓ วัน ๓ คืน เริ่มวันพุธ ไปสิ้นสุดในวันศุกร์
                  วันรุ่งขึ้น คือวันพฤหัสบดี จะมีกิจกรรมการแก้บนตามที่บนบานศาลกล่าวไว้ โดยการใช้ขนมพอง ขนมลา ขนมโค ไปรวมกันที่วัด ในการทำขนมเซ่นบวงสรวง ถ้าใครมีบุตรชายให้ทำขนมโค (คล้ายขนมต้มขาว แต่สอดไส้ด้วยน้ำตาลแว่นและคลุกมะพร้าว) ถ้ามีบุตรหญิงให้ทำขนมพอง หรือขนมลา(ขนมพื้นเมืองที่นิยมทำในวันประเพณีวันสารท) มาถวายวัดและเลี้ยงดูคณาญาติ มิฉะนั้นเชื่อกันว่าเจ้าแม่อยู่หัวจะให้โทษถึงเป็นบ้า ง่อยเปลี้ย พิกลพิการ หรือประสบเคราะห์กรรมต่างๆ พิธีแก้บนนี้จะมีตลอดวัน จนกว่าผู้ที่บนไว้ได้ทำพิธีแก้บนจนหมด หลังจากเสร็จพิธีแก้บนแล้ว ก็จะอัญเชิญเจ้าแม่อยู่หัวเข้าผอบโดยห่อผ้า ๙ สี ๙ ชั้น พระสวดบังสุกุล และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลเป็นการเสร็จพิธี
                   จุดมุ่งหมายและความสำคัญของพิธีนี้คือเพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อเจ้าแม่อยู่หัว เพื่อให้บุตรหลานของชาวบ้านท่าคุระ ได้กลับมาชุมชนพร้อมกันและร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษของตน เพื่อให้ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านท่าคุระได้จรรโลงศาสนา และวัฒนธรรมพื้นบ้านของท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรำโนราโรงครู

ขอขอบคุณข้อมูลจาก อ่านเพิ่มเติม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น