วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ตำนานเจ้าแม่อยู่หัว


 ตำนานเจ้าแม่อยู่หัว
                          เจ้าแม่อยู่หัวหมายถึง  พระพุทธรูปทองคำที่สร้างแทนตัวบุคคลที่ชาวบ้านท่าคุระบุคคลทั่วไปให้ความเคารพนับถือและเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์    ที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้เมื่อหลายร้อยปีมาแล้วจึงเป็นมรดกตกทอดมาให้คนรุ่นหลังได้เคารพสักการบูชาสืบต่อกันมา   รวมทั้งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ   ที่รวมจิตใจเป็นหนึ่งทำให้ลูกหลานเกิดความรักความสามัคคีสืบมา


                          เจ้าแม่อยู่หัว   ประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าคุระ  หมู่ 9 ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ  จังหวัดสงขลา   ขนาดหน้าตักกว้าง 2 นิ้ว  สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยสุโขทัยตอนปลายหรืออยุธยาตอนต้น   ประมาณ  พ.ศ.  1900  ด้วยความเชื่อถือและศรัทธาว่าเจ้าแม่อยู่หัวมีความศักดิ์สิทธิ์   ประชาชนทั่วไปจึงแสดงความจงรักภักดีความกตัญญูกตเวที  ความศรัทธาโดยการสมโภชและสรงน้ำเจ้าแม่อยู่ทุกปี  ด้วยความสามัคคีที่มีเป้าหมายตรงกันโดยยึดเอาเจ้าแม่อยู่หัวเป็นศูนย์รวมจิตใจ  แม้ว่าลูกหลานได้อพยพกระจัดกระจายย้ายถิ่นไปทำมาหากินทั่วประเทศไทย  บ้างก็ไปรับราชการ  บ้างก็ไปทำมาค้าขาย  แต่ใน 1 ปี  เมื่อถึงวันพุธแรกข้างแรมเดือน 6 ก็จะกลับมาเพื่อร่วม  สมโภชสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัวเป็นพันธะสัญญาของลูกหลานในท้องถิ่น    เจ้าแม่อยู่หัว  หรือพระหน่อเชื่อกันว่าเป็นโอรสเจ้าเมืองใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด  แต่ท่านผู้เฒ่าเล่ากันมาว่า  เมื่อหลายร้อยปีมาแล้วมีเมือง ๆ หนึ่ง  สมัยสุโขทัยตอนปลายอยุธยาตอนต้นเจริญด้วยศิลปวัฒนธรรมอย่างยิ่งน่าจะเป็นเมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบันเจ้าเมืองมีโอรสหนึ่งพระองค์   มีพระนามเรียกขานทั่วไปว่าพระหน่อ   พระชนมายุประมาณ 9-10  พรรษา  ซึ่งเป็นที่รักใคร่ของพระบิดามารดาและเหล่าอาณาราษฎร  เพราะนอกจากพระหน่อเป็นคนฉลาดเฉลียวยังพูดจาไพเราะอ่อนหวาน  ส่วนพระนามที่แท้จริงนั้นไม่สามารถจำได้เพราะกษัตริย์เป็นสมมุติเทพมีพระนามยาว ๆ หลายพยางค์  ตามธรรมดาพระหน่อมักจะลงเล่นน้ำสรงน้ำที่ท่าน้ำเป็นประจำอยู่มาวันหนึ่งแม้ว่าพี่เลี้ยงนางสนมต่างดูแล  และระมัดระวังเป็นอย่างดีแต่พระหน่อก็หายไปราวกับเกิดปฏิหารย์  ถึงจะค้นหาอย่างไรก็ไม่พบร่องรอย   บ้างก็ดำน้ำลงค้นหา  บ้างก็วิ่งไปหาบนตลิ่งต่างร้องไห้คร่ำครวญเพราะเสียใจที่เจ้าฟ้าอันเป็นที่รักยิ่งหายไป  และเกรงกลัวพระอาญาในที่สุดเมื่อหมดปัญญาจึงได้พากันมากราบบังคมทูลให้พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีทรงทราบ   พระเจ้าอยู่หัวทรงกริ้วเป็นที่สุดและพระราชินีถึงกับเป็นลมหมดสติไป  พอตั้งสติได้  พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงรับสั่งให้ทหารมหาดเล็ก  เสนาบดีน้อยใหญ่ค้นหาอีกครั้งหนึ่งอย่างละเอียดแม้ได้แต่ร่างกายที่ไร้วิญญาณก็ทรงพอพระทัยแล้ว  ถึงค้นหาอย่างไรก็ไม่พบอีกนั่นแหละถึงพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีจะทรงเสียพระทัยจนสุดที่จะพรรณนา   แต่ก็เชื่อในกฎแห่งกรรมและด้วยทศพิธราชธรรมพระองค์มิได้ลงอาญาแก่ผู้ใด       เมื่อกษัตริย์ทั้งสองได้พยายามถึงที่สุดแล้ว    ก็ไม่เป็นผลเลยรับสั่งให้โหราธิบดีทำนายตรวจดูชะตาราศีของพระราชโอรสหลังรับสั่งให้โหราธิบดีทำนายตรวจดูชะตาราศีของพระโอรสหลังจากโหราธิบดีได้ตรวจดูวันเดือนปี   ลงเลขบวกลบคูณหารตามราศีอย่างละเอียดรอบคอบแล้ว   จึงกราบทูลว่า   ดวงชะตาของพระหน่อยังไม่ถึงชีวิต   เพียงตกอยู่ในพระเคราะห์เล็กน้อยด้วยผลบุญกรรมที่เคยทำไว้แต่ปางก่อนที่เสวยอายุจึงทำให้ต้องพลัดพรากจากเมืองหลวงไป   แต่ก็ไปในทางที่ดี   จะพบผู้อุปการะอย่างดีและด้วยบุญบารมีต่อไปข้างหน้า   จะมีเกียรติคุณเกียรติศัพท์   เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป   แล้วจะกลับสู้พระราชฐานในไม่ช้า    ขอให้ติดตามไปทางทิศใต้ซึ่งเป็นที่ทุรกันดาร    เมื่อพระเจ้าอยู่หัวได้รับคำทำนายของโหรแล้ว   ก็ตรัสให้เหล่าทหารมหาดเล็กจัดกำลังพลแยกย้ายกันออกเดินทางไปติดตามหาพระหน่อทางทิศใต้   โดยกำชับว่าหากไม่พบพระหน่อก็ไม่ต้องกลับมาเมืองหลวงแม้จะใช้เวลาสักเพียงใดก็ตาม   แต่เดิมนั้นเมืองพัทลุงตั้งอยู่อำเภอสทิงพระ   จังหวัดสงขลา    ปัจจุบัน  โดยมีกษัตริย์ปกครองติดต่อกันหลายพระองค์เช่น  พระเจ้ากรุงทองปกครองกับสมัยสุโขทัยตอนปลายพระเจ้าธรรมคัล  ตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา   เมืองพัทลุงจึงมีประวัติสัมพันธ์กับกรุงศรีอยุธยาหลักฐานที่สำคัญปรากฏในการก่อสร้างวัดพะโคะ   เมื่อ  พ.ศ. 2057

                            หมู่บ้านหนึ่งอยู่ทางทิศใต้    เมืองศิริธรรมนคร  หรือนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน   และทิศเหนือเมืองพัทลุงเรียกว่าบ้านพราหมณ์จัน    ห่างจากวัดพะโคะ    ประมาณ   2 กิโลเมตร   มาทางทิศใต้และทิศเหนือของวัดท่าทองหรือปัจจุบันเรียกว่า วัดท่าคุระ  ประมาณ 1 กิโลเมตร  บ้านพราหมณ์จัน  ปัจจุบันเพี้ยนมาเป็นบ้านแพรจัน อยู่ในเขตปกครองหมู่ที่   9     ตำบลคลองรี    อำเภอสทิงพระ   จัดหวัดสงขลา   เป็นส่วนหนึ่งของแหลมที่ยื่นลงมา ทิศตะวันออกจรดอ่าวไทย  ทิศตะวันตกจรดทะเลสาบสงขลาพื้นที่เป็นที่ราบดินเหนียว   ปัจจุบันเป็นที่นาของนางไสว   ยิ้มละมัย (กลิ่นสุวรรณ)   ซึ่งเคยขุดพบถ้วยชาม   เครื่องใช้โบราณมาแล้ว   

  
                          มีครอบครัวหนึ่งอยู่มาช้านานแล้ว   แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน  ชื่อตา  พรหม  กันยายจัน ทั้งสองสู่เข้าวัยชราอาชีพทำนาเก็บผักเก็บฟืน  หากุ้งหาปลา เอาแต่พอกินใช้   ไม่เดือดร้อนอะไรเพราเมื่อก่อนมีความอุดมสมบูรณ์อยากกินปลาน้ำจืดก็ไปหาปลาตามห้วยหนองคลองบึงหรือในทะเลสาบ   อยากจะกินปลาน้ำเค็มก็ไปหาปลาทะเลอ่าวไทย  อยู่มาคืนหนึ่งตาพรหมฝันว่าเห็นช้างเผือกเชือกหนึ่งนั้นก็สูญหายไป   ตา  ยาย    ก็แก้ความฝันกันไปต่างๆนานาพอรุ่งเช้าตาพรหมก็ออกจากบ้านไปหาปลาน้ำเค็มกิน ยายก็ช่วยจัดข้าวห่อ    หมากพลู  ใบจากยาเส้น   เตรียมให้ตา   ตาออกจากบ้านมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกคือบ้านแล    ปัจจุบันอยู่ใกล้กับวัดชะแม    ตำบลดีหลวง  ตาพรหมหากุ้งปลาได้พอสมควรแล้วหยุดพักกินข้าวห่อแล้วเหลือบไปเห็นสิ่งหนึ่งลอยมาติดตลิ่ง  แกก็ไปดูใกล้ๆเลยพบว่า   เป็นเด็กผู้ชายตามเนื้อตัวของเด็กเต็มไปด้วยตะไคร่น้ำเต็มไปหมด   แต่เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจว่า  ชีพจรยังทำงานปกติ จับดูหน้าอกก็หัวใจเต้น  เนื้อตัวก็ยังอุ่นอยู่   ตารีบทำความสะอาดเด็กแล้วเอาน้ำจืดในกระบอกที่เตรียมไว้ดื่มเทลงบนร่างของเด็ก   เพื่อชำระคราบน้ำเค็มและตะไคร่   ตาพรหมปฐมพยาบาลจนเด็กรู้สึกตัวได้สติ แกดีใจและแปลกใจระคนกันไป   เลยลืมสัมภาระและกุ้งปลาที่หามาได้จนหมดสิ้น      แล้วรีบยกร่างเด็กขึ้นบ่าเพื่อพากลับระหว่างเดินทางก่อนถึงบ้าน    ตาก็ได้หยุดที่บ่อน้ำตักน้ำมาลูบตามเนื้อตัวตัวเด็กอีกครั้งหนึ่งและหยดน้ำให้ดื่มจนเด็กกระปรี้กระเปร่าขึ้นแกอุ้มต่อไปจนถึงบ้าน  ด้วยความดีใจตาตะโกนเรียกยายจันให้ลงมาดูโดยที่ตนยังไม่ได้ขึ้นบันได    ตาขึ้นบนบ้านวางเด็กให้นอนดื่มน้ำดื่มท่ายายต้มน้ำอุ่นอาบให้เด็ก  พร้อมกับประแป้งแต่งกายให้เรียบร้อย  ตาตั้งสติได้เลยเล่าถึงความเป็นมาเป็นไปที่ได้นำเด็กมาจนยายเข้าใจเวลาล่วงเลยไปหลายวัน   ตายายเลี้ยงดูเด็กเป็นอย่างจนดีปลอดภัยแข็งแรงขึ้นมีอาการปกติทุกประการตายายสังเกตดูบุคลิกลักษณะ ผิวพรรณ  รูปร่าง  หน้าตาและคำพูดจาของเด็กแล้ว ทั้งสองรู้สึกแปลกใจยิ่งนัก  โดยเฉพาะคำพูดสำนวนน้ำเสียงอ่อนหวานตาและยายไม่เคยได้ยินมาก่อน เพียงแต่รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ตาและยายสอบถามความเป็นมาของเด็กว่าเป็นมาอย่างไรเป็นบุตรของใครเด็กเล่าให้ตาและยายฟังพอจับใจความได้ว่าเขาคือพระหน่อ   ราชโอรสของกษัตริย์เมืองเหนือ  เมื่อตาและยายได้รับทราบดังนั้นก็รู้สึกปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสได้เลี้ยงดูราชโอรสคิดว่าเป็นบุญวาสนาของตนทั้งสองตา-ยายได้ปรึกษาและลงความเห็นว่า   หากเปิดเผยความจริงให้ใครรู้ว่าเด็กที่ตาและยายเลี้ยงคือพระหน่อ  เป็นโอรสของกษัตริย์  อาจเป็นอันตรายแก่พระหน่อได้                 จึงอธิบายให้พระหน่อเข้าใจและพร้อมใจกันปกเปิดความจริงเอาไว้ข่าวของตาพรหม-ยายจันพบเด็กแล้วนำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านเผยแพร่ไปจนเพื่อนบ้านใกล้ไกลในละแวกนั้นทราบกันทั่วไป   จนคนในละแวกนั้นมาเยี่ยมเยือนมากมายยิ่งเห็นบุคลิกลักษณะไพเราะอ่อนหวาน  จึงทำให้เกิดความเคารพนับถือ  ยำเกรงก็เข้าใจว่าเด็กคนนี้มีบุญญาบารมี   บางคนเจ็บไข้ได้ป่วย  มีความทุกข์เดือดเนื้อร้อนใจ  ได้มีโอกาสพูดคุยกับพระหน่อตามอัธยาศัยก็สามารถหายไข้  คลายทุกข์บางคนปรารถนาสิ่งใด  ได้อธิฐานบนบานก็ได้รับผลสำเร็จ  เมื่อเกิดเหตุอัศจรรย์และมีปฏิหารเช่นนี้ประชาชนทั่วไปต่างให้ความเคารพนับถือพระหน่อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ต่างก็มากราบไว้และนำสิ่งของมาฝากทำให้ตายายเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไปเช่นกัน  และฐานะตา-ยายก็ดีขึ้นตามลำดับ อยู่มาวันหนึ่ง  ตาและยายออกไปธุระนอกบ้านปล่อยให้พระหน่อเฝ้าบ้านคนเดียวพบมหาดเล็กที่เจ้าอยู่หัวให้มาติดตามพระหน่อเดินทางมาถึงบ้าน ตา-ยายและช่วยกันไล่จับไก่พระหน่อได้ยินจึงพูดทักทายห้ามปรามว่า  ไล่จับไก่ทำไม พวกทหารได้ยินเสียงนั้นถึงกับชะงัก  เพราะเป็นสำเนียงที่คุ้นหู  และไม่ใช่เป็นเสียงคนในละแวกนี้แน่  จึงพากันขึ้นไปบนเรือนและขอน้ำดื่ม  พวกทหารต่างสังเกตพฤติกรรมของพระหน่อแล้ว  ต่างก็มั่นใจว่าเด็กคนนี้คือพระหน่อแน่นอน  เพียงแต่ผิวพรรณหมองคล้ำแต่งกายแบบชาวบ้านทั่วไป  เพราะอยู่บ้านไร่ปลายนาเสียนาน  เมื่อมั่นใจแน่นอนแล้ว  พวกทหารมหาดเล็กต่างก็หมอบลงกราบบังคมทูลให้พระหน่อทราบว่าพวกตนได้รับมอบหมายจากพระเจ้าอยู่และพระราชินีให้ออกติดตามหาพระหน่อเพื่อกลับพระราชวัง  พระหน่อสังเกตเหล่าทหารและมหาดเล็กที่กราบทูล ทรงมั่นพระทัยว่าเป็นข้าราชการสำนักของราชบิดาและไม่เป็นอันตรายกับพระองศ์แน่จึงยอมรับและเล่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่ได้มาอยู่กับตา-ยายให้พวกทหารมหาดเล็กฟัง และก็จะตัดสินใจอย่างไรให้รอจนกว่าตา-ยายกลับมาบ้านก่อน แล้วจึงปรึกษาหารือกัน ตกเย็น ตา-ยายกลับมาถึงบ้าน  เห็นผู้คนแปลกหน้าอยู่หน้าบ้านหลายคน  เป็นชายหนุ่มและแต่งกายไม่เหมือนชาวบ้านธรรมดา เลยคิดไปว่าคงเกิดเหตุร้ายกับพระหน่อแน่แต่ก็โล่งอกเมื่อเห็นพระหน่อออกมาต้อนรับด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส และรับสัมภาระจากตา-ยายเก็บเข้าที่ เอาน้ำมาให้ตา-ยาย ถึงอย่างไรก็ตาม  ตา-ยายยังไม่หายกังวลอยู่ดีตา-ยายดื่มน้ำเสร็จนั่งพักพอหายเหนื่อย  พระหน่อก็แนะนำให้เหล่าทหารรู้จักทำความเคารพตา-ยาย แล้วเล่าเหตุการณ์พร้อมกับบอกจุดประสงค์ของพวกทหารมหาดเล็กที่มาที่นี่ ตา-ยาย เมื่อทราบว่าพวกทหารติดตามมาเพื่อจะกลับเมืองหลวงต่างก็เสียใจเป็นอย่างยิ่ง มีความตื้นตันใจสับสนไปหมด เพราะต่างรักพระหน่อเหมือนลูกในอุทรพระหน่อเป็นแก้วตาดวงใจของตา-ยายและคนในท้องถิ่นนี้ ที่สุดตา-ยายก็ทำใจได้และร่วมปรึกษากับมหาดเล็กว่า หากจะพาพระหน่อไปเมืองหลวงเลย เกรงว่าจะเป็นอันตรายและเพื่อความปลอดภัยให้แบ่งทหารออกเป็นสองพวก คือ พวกหนึ่งให้อยู่บ้านตา-ยายเพื่อดูแลอารักขาพระหน่ออยู่ก่อน อีกพวกหนึ่งให้เดินทางไปกราบทูลให้พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีทรงทราบ ข่าวพวกทหารมหาดเล็กเดินทางมาบ้านตาพรหม-ยายจันเพื่อนำพระหน่อกลับเมืองหลวงทราบถึงชาวบ้านทั่วไปอย่างรวดเร็ว ด้วยความศรัทธาต่อพระหน่อที่มีอยู่เดิมแล้วยิ่งทวีคูณขึ้นเป็นลำดับ  ในวันหนึ่งๆประชาชนมาเยี่ยมชมบารมีไม่ขาดระยะบ้างมาเพื่อเยี่ยมชมบารมี แสดงจงรักภักดี บ้างขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลจนนำให้บ้านของตา-ยายคับแคบไม่ถนัด พวกทหารมหาดเล็กที่คอยรับใช้พระหน่อ ได้ร่วมมือกับชาวบ้านหมู่บ้านพราหมณ์จันช่วยตัดไม้สร้างบ้านตา-ยายให้กว้างกว่าเดิมแล้วขุดคูรอบบ้านขุดสระสองลูกคือ สระสังข์แก กับสระแพรจันสร้างทางจากหมู่บ้านไปทางทิศใต้จรดทะเลสาบเขตหมู่บ้านท่าทอง(ท่าทองหมายถึงท่าที่มีความอุดม-สมบูรณ์ มีพืชพันธุ์ธัญญาหารสัตว์น้ำนานาชนิด ปัจจุบันเรียกว่าบ้านท่าคุระ หมายถึง ท่าที่มีต้นคุระ) ทางสายดังกล่าวต่อมาใช้เป็นเส้นทางนำซากศพไปเผาหรือฝังในป่าช้า ชาวบ้านเลยเรียกว่าทางผีติดปากจนถึงปัจจุบันซึ่งปรากฏหลักฐานให้รุ่นหลังเห็นจนตราบทุกวันนี้
                          ฝ่ายทหารมหาดเล็กที่เดินทางกลับเมือง เมื่อเดินทางถึงได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลให้พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบซึ่งเป็นที่ปลาบปลื้มปิติยินดีทั้งสองพระองศ์ และ ข้าราชบริภารทั้งหลายพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งให้โหราธิบดีตรวจดูฤกษ์ยามตามประเพณีนิยมและขบวนทหารเครื่องอุปโภค ตลอดจนโขนหนังการละเล่นต่างๆอย่างครบครัวออกเดินทางสู่ทิศใต้จุดหมายคือหมู่บ้านพราหมณ์จันบ้านของตาพรหมยายจัน ขบวนเดินทางมาถึงบ้านแล ล้วนมุ่งตรงไปทิศตะตกวันตกถึงบ้านโหมรง หรือสำโรง หรือวัดเก่า ปัจจุบันเรียกว่าบ้านบ่อใหม่ มีพื้นที่กว้างขวางดินทรายขาวสะอาด ต้นไม้เป็นทิวแถบร่มรื่นและอยู่ไม่ไกลจากบ้านพราหมณ์จันมากนัก พระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสให้พวกทหารปลูกสร้างพลับพลาประทับ กษัตริย์ทั้งสองประทับที่พลับพลาหนึ่งคืนแล้วนำเหล่าทหารจำนวนหนึ่งเสร็จไปตา-ยาย เมื่อพระราชบิดา-มารดาได้พบพระโอรสต่างก็ปิติยินดีเป็นล้นพ้นจนน้ำพระเนตรไหลกษัตริย์ทั้งสองขอพระหน่อจากตา-ยายเสร็จไปที่พลับพลา พระหน่อขออนุญาตให้ตา-ยาย ติดตามไปกับขบวนด้วย   เมื่อถึงพลับพลาพระเจ้าอยู่หัวได้รับสั่งให้โหราธิบดีดูฤกษ์ยามเพื่อจัดสมโภชรับขวัญพระหน่อ โหราธิบดีตรวจดูแล้ววันที่เป็นมงคลที่สุดคือวันพุธ  แรมหนึ่งค่ำเดือนหก  ประชาชนทั่วไปเมื่อทราบว่ากษัตริย์เมืองเหนือได้ติดตามพระโอรสมาและจัดทำพิธีสมโภชรับขวัญ  ต่างก็จัดการทำอาหารหวานคาวมาร่วมพิธีกันคับคั่ง  พิธีเริ่มวันพุธ  แรมหนึ่งค่ำพระสงฆ์ทำพิธีเป็นอันเสร็จพิธีรับขวัญพระหน่อ

                          เมื่อทำพิธีรับขวัญพระหน่อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  พระมหากษัตริย์ทั้งสองจำเป็นที่จะนำพระหน่อกลับเมืองหลวง  ซึ่งนำความโศกเศร้าเสียใจแก่ตา-ยาย  เป็นอย่างมากพระราชินีนึกตระหนักถึงความรักที่ตา-ยาย มีต่อพระหน่อ  และความจงรักภักดีที่ชาวบ้านมีต่อพระหน่อพระองค์ซาบซึ้งเป็นที่สุด  ก่อนจากไปพระองค์ได้รับสั่งให้นายช่างทำทองตีทองให้แผ่นกว้างแล้วสลักรูปของพระหน่อลงในแผ่นทองนั้นมอบให้ตาพรหมและยายจันด้วยความซาบซึ้งน้ำพระทัยพระราชินี  ตา-ยายและเรียกแผ่นทองคำสลักพระหน่อว่าเจ้าแม่อยู่หัว  เหตุผลเพราะพระราชินีหรือเจ้าแม่อยู่หัวเป็นผู้มอบให้  ส่วนสถานที่สร้างพลับเพลาพระราชินีก็ได้ทรงขออนุญาตต่อพระเจ้าอยู่หัวสร้างวัดขึ้นเพื่อเป็นบุญกุศลและมอบให้ชาวบ้านละแวกนั้นที่จงรักภักดีต่อพระหน่อ  ชื่อว่าวัดเจ้าแม่  ต่อมาเพี้ยนเป็นวัดชะแม  และเลื่อนไปอยู่ทางทิศเหนือ  ส่วนวัดเจ้าแม่เก่า  ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียนวัดชะแม  ตำบลดีหลวง  มีต้นโพธิ์เป็นหลักฐาน  บางคนมีความเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์  ได้ไปบนบานศาลกล่าวที่ต้นโพธิ์ดังกล่าวตามหลักฐานในพงศาวดารเมืองพัทลุงว่า  ในสมัยออกขุนเทพตำรวจเป็นเจ้าเมืองพัทลุง (อำเภอสทิงพระ) มีผู้ศรัทธาสร้างเจดีย์วิหารหลายวัด  เช่น
พระมหาเทพ                       สร้างพระวิหารและเจดีย์วัดแจระ ( หัวแจระ )
พระนครธรรมรังสี  ลำราม     สร้างพระวิหารวัดเบิก
พระครูพิชัย                           สร้างพระวิหารวัดชะแม
พระมหาเถรพรหม                สร้างพระวิหารวัดมีไชย ( สนามไชย )
               

                          เมื่อพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีได้จัดการภารกิจต่างๆตามประสงค์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว   จึงเสด็จกลับพระราชวังพร้อมด้วยพระหน่อ ตาพรหมกับยายจันยังอยู่ที่หมู่บ้านพราหมณ์จันเหมือนเดิม  เก็บรักษารูปสลักของพระหน่อในแผ่นทองคำไว้อย่างดีแม้ไม่มีพระหน่อตัวจริงแล้วก็ตามแต่ประชาชนทั่วไปยังให้ความเคารพนับถือบนบานตามที่เคยกระทำมาเหมือนตอนที่พระหน่อยังอยู่และได้รับผลสำเร็จทุกประการ ตา-ยาย และชาวบ้านจึงพร้อมใจกันยึดถือเอาวันพุธแรกข้างแรม เดือนหก  ตามที่พระเจ้าอยู่หัวจัดพิธีสมโภชรับขวัญพระหน่อ  กลางคืนมีมโนราห์แสดงให้ชมรุ่งเช้าวันพฤหัส  ใครบนบานศาลกล่าวว่าไว้อย่างไรก็แก้บนเสีย  เช่น บางคนบนไว้รำมโนราห์  บนบวชชีก็แล้วแต่ พระหน่อเจริญวัยคิดถึงตา-ยาย ด้วยความกตัญญูกตเวทีและมีพระเมตตา  จึงกราบบังคมทูลบิดา-มารดาเสด็จมาเยี่ยมตา-ยายและจะรับไปอยู่ด้วยในฐานะพระประยูรญาติผู้ใหญ่ในพระบรมราชวังด้วยกษัตริย์ทั้งสองเห็นด้วยกับพระราชโอรสและได้ร่วมเสด็จเยี่ยมตา-ยายด้วย ตา-ยายเมื่อกษัตริย์มาเยี่ยมถึงบ้านรู้สึกดีใจจนบอกไม่ถูกราษฎรทั่วไปก็เข้ารับเสด็จอย่างพร้อมเพรียงด้วยความจงรักภักดี  พระหน่อได้แจ้งถึงจุดประสงค์ที่มาเยี่ยมครั้งนี้  


                           เพราะเห็นว่าตา-ยาย ชราภาพมากแล้วสมควรไปอยู่ที่สบายๆมีคนควรดูแลอย่างใกล้ชิด  หากปล่อยให้ตา-ยายยังอยู่ในหมู่บ้านพราหมณ์จันพระองค์จะมาเยี่ยมบ่อยๆ ก็ไม่สะดวก  ตา-ยายรักหวงแหนแผ่นดินเกิดและญาติพี่น้องสักปานใดก็ตามแต่เข้าใจในความปรารถนาและซึ้งน้ำใจพระหน่อที่กตัญญู  เลยจำใจต้องรับคำ  และก่อนไปตา-ยาย จึงทูลขอให้พระเจ้าอยู่หัวพระราชินีและพระหน่อได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งซึ่งอยู่ทิศใต้ของหมู่บ้านพราหมณ์จันสลักรูปพระหน่อมาไว้ในวัดโดยให้เจ้าอาวาสและประชาชนในหมู่บ้านช่วยกันรักษา  เหตุผลที่ตา-ยาย  เลือกเอาท่าคุระตั้งวัดเพราะวัดท่าคุระสมัยนั้นสะดวกในการเดินทางลูกหลานฝั่งตระวันตกตะวันออก  ทางใต้ที่รู้กิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิของเจ้าแม่อยู่หัวได้มาร่วมพิธีได้สะดวก  เมื่อสร้างวัดและพิธีฉลองเสร็จตา-ยาย ต้องเดินทางไปอยู่ในเมืองหลวงกับพระหน่อ  วัดท่าคุระบางคนเรียกว่า วัดท่าทองบ้าง  วัดตายายบ้าง  เหตุที่เรียกว่าวัดตายายคงเป็นเพราะตา-ยาย  เป็นผู้ริเริ่มกระมัง   ต่อมาด้วยความโลภเห็นแก่ส่วนตน  ผู้ที่เคารพศรัทธาบางคนที่ใกล้ชิดขอตัดแผ่นทองคำคนละนิดละหน่อย  เพื่อนำไปบูชาที่บ้านตนเองหรือบางคนขโมยไปขาย   ทำสร้อยคอ  ทำกำไล  ใช้ประโยชน์ส่วนตนทำให้แผ่นทองคำนั้นสึกกร่อนลงไปทุกที  คนที่นำไปทำสร้อยทำกำไล  ทำต่างหู  ทำให้เกิดแผลพุพอง  เน่าเปื่อยตามคอ หู  หรือข้อมือ  หรือมีเหตุเป็นไปต่างๆ นาๆ   เลยทำให้บุคลเหล่านั้นเกิดความกลัว  เลยนำกลับมาไว้ที่เดิม  ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัว  พระราชินี  และพระหน่อ  เลยตรัสให้เอาทองคำที่เหลือเหล่านั้น  หล่อเป็นพระพุทธรูปเก็บไว้ในผอบอย่างดี ในปีหนึ่งลูกหลานสามารถเห็นพระพุทธรูปแม่เจ้าอยู่หัวได้ครั้งเดียวตอนสรงน้ำ  ในวันพุธแรกข้างแรมเดือนหกเท่านั้น  ซึ่งทำติต่อกันมานับร้อยปีมาแล้วและลูกหลานเจ้าแม่อยู่หัวเราต้องรักษาประเพณีสืบไป
 ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล// จากเว็บไซต์โนราต่าง
ศึกษาข้อมูลโดย // โนราบรรดาศักดิ์   พิทักษ์ศิลป์ จังหวัดสงขลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น