วันพุธที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ความเชื่อเกี่ยวกับโนราและการรำโนราโรงครู

ความเชื่อเกี่ยวกับโนราและการรำโนราโรงครู
                       ความเชื่อเกี่ยวกับโนราของชาวบ้าน คณะโนรา ลูกหลานตายายโนรา อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการประกอบพิธีกรรมโนราโรงครู กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

(ภาพโนราจากโนรามหกรรมโนราโรงครู กรุงเทพมหานคร)

ความเชื่อเกี่ยวกับครูหมอโนรา ครูหมอโนรา บางแห่งเรียกว่า ตายายโนรา คือบูรพาจารย์โนราและบรรพบุรุษของโนราที่ล่วงลับไปแล้ว โนราเชื่อว่าครูหมอเหล่านี้ยังมีความผูกพันกับลูกหลานและผู้มีเชื้อสายโนรา หากลูกหลานเพิกเฉยไม่เคารพบูชาไม่เซ่นไหว้ ก็จะได้รับการลงโทษจากครูหมอโนราด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ทำให้เจ็บป่วยจะแก้ได้ด้วยการบนบวงสรวง อนึ่ง ถ้าจะให้ครูหมอโนราช่วยเหลือในกิจบางอย่างก็ทำได้โดยการบนบานหรือบวงสรวงเช่นกัน จากความเชื่อนี้จึงทำให้เกิดพิธีกรรมโนราโรงครู ซึ่งในพิธีนี้ มีการเชิญครูหมอโนราเข้าทรงรับเครื่องสังเวย และมีการรำถวายครู
ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ การรำโนราและการประกอบพิธีกรรมโนราโรงครูจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ เช่น เวทย์มนต์คาถา การทำและป้องกันคุณไสยเชื่อเรื่องเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เชื่อเรื่องโชคลางเชื่อเรื่องอำนาจเร้นลับของโนราใหญ่ในขณะทำพิธีโนราโรงครู
ความเชื่อเรื่องการแก้บน ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า การบนและการแก้บนครูหมอโนราจะทำให้ตนเองได้รับความช่วยเหลือในสิ่งที่ปรารถนา และพ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อนต่างๆ การบนและการแก้บนมีทั้งเกิดจากความต้องการให้ครูหมอโนราช่วยเหลือ และบนเพราะถูกครูหมอโนราลงโทษด้วยสาเหตุต่างๆ

(ภาพโนราจากโนราโรงครูท่าแค  จังหวัดพัทลุง)

ความเชื่อเรื่องการครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่ คณะโนราเชื่อว่า ผู้ที่จะเป็นโนราโดยสมบูรณ์
สามารถเป็นโนราใหญ่หรือนายโรงโนราและทำพิธีโนราโรงครูได้ ต้องได้รับการครอบเทริดหรือผูกผ้าใหญ่เสียก่อน
ความเชื่อเรื่องการผูกผ้าปล่อย ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า ผู้ที่เป็นโนราหรือเชื้อสายโนรา หากมีความประสงค์จะเลิกรำโนรา ตัดขาดจากเชื้อสายโนราโดยไม่ถูกครูหมอโนราลงโทษ ต้องมาให้โนราใหญ่ทำพิธีผูกผ้าปล่อยให้ในพิธีโนราโรงครู จึงจะตัดขาดจากความเป็นโนราและเชื้อสายโนราได้
ความเชื่อเรื่องการเหยียบเสน ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า เสน เกิดจากการกระทำของ
ผีเจ้าเสน ผีโอกะแชง หรือเพราะครูหมอโนราต้องการให้เด็กคนนั้นรำโนรา จึงทำเครื่องหมายเอาไว้ จะหายได้ก็ต่อเมื่อโนราใหญ่ทำพิธีเหยียบเสนให้ในพิธีกรรมโนราโรงครู
ความเชื่อเรื่องการตัดผมผีช่อ ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าผมที่จับกันเป็นกระจุกหรือเหมือน
ผูกมัดไว้ตั้งแต่กำเนิด เป็นเพราะครูหมอโนราต้องการให้คนหนึ่งคนใดเป็นโนราหรือคนทรง ครูหมอโนราจึงผูกผมเป็นเครื่องหมายเอาไว้ จะแก้ได้โดยให้โนราใหญ่เป็นผู้ตัดในพิธีกรรมโนราโรงครู เชื่อว่าผมที่ตัดออกจะเป็นของขลังสำหรับเจ้าของ และผมที่งอกขึ้นใหม่จะไม่เป็นกระจุกอีก
ความเชื่อเรื่องการรำสอดเครื่องสอดกำไล (พิธีสอดไหมรยฺ) ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่า  ผู้ที่จะต้องการจะได้รับการยอมรับในการเป็นโนราจากครูโนรา ต้องผ่านพิธีการรำสอดเครื่องหรือที่เรียกว่า จำผ้าส่วนผู้ที่ต้องการจะฝากตัวเป็นศิษย์ของโนราทั้งที่เคยหัดรำโนรามาแล้วหรือไม่เคยหัดรำมาก่อน จะต้องทำพิธีสอดกำไล หรือสอดไหมรยฺ เพื่อให้ครูรับไว้เป็นศิษย์

(ภาพโนราโรงครูคณะประสงค์  กำพลศิลป์)

ความเชื่อเรื่องการรักษาอาการป่วยไข้ ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าครูหมอและพิธีกรรมโนราโรงครูสามารถรักษาอาการป่วยไข้ที่มาจากความผิดปกติของร่างกาย โรคภัย หรือเกิดจากการกระทำของครูหมอโนรา ด้วยการบนบาน การรักษาด้วยเวทย์มนต์คาถาโดยผ่านโนราหรือคนทรงครูหมอโนรา
ความเชื่อเรื่องการเข้าทรงและร่างทรง ชาวบ้านและคณะโนราเชื่อว่าครูหมอสามารถติดต่อกับลูกหลานได้โดยผ่านศิลปินโนราโดยเฉพาะโนราใหญ่และการเข้าทรงในร่างของครูหมอโนราองค์นั้นๆ

ขอขอบคุณข้อมูลจากเอกสาร มหกรรมโนราโรงครู
ศึกษาและค้นคว้าเอกสารข้อมูลโดย  โนราบรรดาศักดิ์   พิทักษ์ศิลป์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น