วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ความหมายความสำคัญของบทกลอนโนราแต่ละบทกลอน

ความหมายความสำคัญของบทกลอนโนราแต่ละบทกลอน



บทร้องที่ใช้ร้องในการประกอบพิธีโดยไม่ใช้ท่ารำ
           1.1 บทสัสดี   บทไหว้ครูก่อนทำพิธีเพื่อระลึกถึงครู ขอความเป็นสิริมงคล
          1.2 บทบาลีหน้าศาล บทใช้ร้องประกอบพิธีก่อนเชิญครู เป็นกลอนเล่าตำนานโนราและขนบธรรมเนียม วิธีการแสดงโนราโรงครูตามลำดับโดยสรุป เพื่อเตือนความจำและเล่าให้ผู้ร่วมพิธีทุกคนได้ฟังเข้าใจร่วมกัน
          1.3  บทชาครูหมอ  บทร้องบูชาครูหมอตายาย ขอความเป็นสิริมงคลจากครูหมอลงมาช่วยคุ้มครองลูกหลานไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใดให้ช่วยติดตามและคุ้มครองดูแลตลอดเวลาจะทำอะไรขอให้มีแต่สวัสดิภาพและลาภผล
          1.4  บทส่งครู ใช้ร้องเชิญเทวดาและครูหมอตายายทั้งหลายกลับหลังจากรับเครื่องเซ่นสังเวยแล้ว


บทร้องที่ใช้ร้องในการประกอบพิธีโดยใช้ท่ารำ
                        จะสะท้อนคุณค่าและวิถีชีวิตเป็นคติธรรมสั่งสอนและปลุกฝังแนวคิดการดำรงชีวิตที่ดีให้แก่ลูกหลานหรือผู้ร่วมชมการแสดงโนราโรงครูทุกคนให้เห็นตัวอย่างความชั่ว-ดีงามแล้ว นำไปปฏิบัติได้ถูกต้อง
          2.1 บทไชชาย จะเป็นการรำและการเล่าเรื่องราวการอยู่ด้วยกันของสามีภรรยาที่รู้จักหน้าที่ของแต่ละคน มีความขยันทำงานและคอยดูแลเอาใจใส่ซึ่งกันและกันเป็นครอบครัวเล็กๆมีชีวิตเรียบง่ายแต่มีความสุขเช่น ตื่นเช้าสามีลุกขึ้นไปนา ภรรยาอยู่บ้านปรุงอาหารให้สามีรับประทานและคอยเลี้ยงลูก เวลาว่างคอยปั่นฝ้ายทอผ้า
          2.2 บทฟ้าลั่น จะเป็นการรำและเล่าเรื่อง เกี่ยวกับสตรีหรือผู้หญิงที่มีความประพฤติไม่ดีทำตัวผิดแปลกประเพณี และเกิดเรื่องน่าอับอายเกิดขึ้น คือเป็นผู้หญิงที่ตามสามีและโดนสามีทิ้ง หรือเป็นสาวพรหมจารีแต่จะแต่งงานกับพ่อหม้าย
          2.3 บทพลายงามตามโขลง เป็นการรำและแสดงบทบาทสมมุติเป็นช้างป่าที่โดนตาหมอเฒ่าหรือหมอช้างจับมาผูกมัดไว้ให้มาอยู่ในที่รกไม่มีอิสระยิ่งดิ้นเชือกยิ่งรัดตึงทนทุกทรมานไม่มีอิสระเหมือนอยู่ในป่าธรรมชาติ
          2.4 บทแสงทอง เป็นการร่ายรำและพรรณนาเปรียบเทียบการรู้จักใช้ม่านกั้นแสงทองของพระอาทิตย์ในช่วงเวลาต่างๆ เช่น ถ้าดวงอาทิตย์ส่องตอนเช้า  แสงอ่อนใช้ม่านขาวบังไว้
แสงอาทิตย์ส่องตอนเที่ยง ใช้ม่านเหวียงบังไว้  แสงอาทิตย์ส่องเกือบค่ำ ใช้ม่านดำกั้นไว้
          2.5 บทนกจอก  เป็นการร่ายรำและพรรณนาเปรียบเทียบนกกระจอกกับความต้องการและดิ้นรนเกินกำลังขณะที่ยังมีภาระหรือความลำบากทุกข์เป็นทุนดั้งเดิม
                        ดังนั้นจะต้องหาหนทางแก้ปัญหา เช่น
นกกระจอก  จะบินข้ามมหาสมุทร หรือข้ามแม่น้ำแต่ข้ามไม่ได้  เพราะขนยังอ่อนอยู่
นกกระจอกจะบินข้ามสมุทรไทยแต่บินไม่ได้  เพราะกำลังควักไข่อยู่
นกกระจอกจะบินข้ามทะเลวนแต่ข้ามไม่ได้ เพราะนกกำลังผลัดขน
          2.6 บทพญาแร้งหรือบทยางแดง  เป็นการร่ายรำและเปรียบเทียบการพึ่งพาอาศัยของสัตว์ขนาดใหญ่ คือแร้ง กับต้นไม้ใหญ่ประเภทต่างๆ  เช่น ไม้หลุมพอ  ไม้ทองหลาง  ไม้ยางแดง
ซึ่งมีประโยชน์และเป็นที่พึ่งพาอาศัยของสัตว์ใหญ่
          2.7 บทนกเป็ดน้ำเป็นการร่ายรำและเปรียบเทียบ  สอนให้รูจักบุญคุณครู  มีความกตัญญูไม่ลบหลู่บุญคุณครู  เช่น ไชยชายไปเรียนรู้วิชา  การใช้หอกโดยดัดแปลงจากวิธีการใช้ปากหาปลาของนกเป็ดน้ำจนชำนาญ  เมื่อมีมีคนถามว่าเรียนรู้วิชามาจากที่ไหนก็อายไม่กล้าบอก  ว่ามีนกเป็ดน้ำเป็นแบบอย่างของครู แต่กลับบอกไปว่าเรียนรู้ด้วยตนเองในภายหลัง  ก็โดนหอกแทงตนเองตาย
          2.8 บทนางขี้หนอน  เป็นกระบวนการรำที่มีบทบาทสำคัญต่อการแสดงโนรา   เพราะเนื้อหาของบทเป็นเรื่องราวของนางกินรี   ในนิทานปัญญาชาดกของพระพุทธศาสนาที่มีการกล่าวถึงนางกินนรีที่เขาไกรลาศ  ชวนบริวารมาลงเล่นน้ำและโดนพรานบุญจับตัวไป
          2.9 บทกำพรัดลูกอ่อน เป็นการร่ายรำประกอบการพรรณนา  ความรักและความเมตตาที่แม่มีต่อลูกให้เห็นถ้าความอดทน และความยากลำบาก  ของแม่ขณะตั้งท้องเพื่อเลี้ยงลูกตนเองให้เติบโตอย่างสมบูรณ์  เมื่อลูกคลอดออกมาก็เฝ้าอุตสาห์เลี้ยงดู  ปอนข้าวปลาอาหาร   และปัดกวาดไล่ยุง   ไร  ไม่ให้ไต่ตอม  กลัวอันตรายจะเกิดกับลูก  และได้เลี้ยงลูกจนโตใหญ่
          2.10 บทระไวระเวก  เป็นบทร่ายรำที่ลีลาของนางกินรีแต่ละตัวที่มารวมจับระบำกันสนุกสนานแต่ละนางมีท่ารำที่สวยงาม  มีบุคลิกที่แตกต่างกัน  มาแสดงความหลากหลาย ของกระบวนการรำ
          2.11  บทฝนตกข้างเหนือ  เป็นการร่ายรำประกอบการพรรณนา  เปรียบเทียบถึงสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ  ได้แก่  ฝนตกลงมาอย่างหนัก  ทำให้น้ำฝนบ่าทะลาย  ภูเขาต่างๆเป็นปัญหาอุปสรรคในการเดินทางไปตามหาน้อง  หรือคนที่รักได้แต่ในจิตใจนั้นยังระลึกถึงอยู่
          2.12 บทลมพัดชายเขา เป็นการร่ายรำและเปรียบเทียบ การที่ไม่หลงลืมตนเองไปจากเผ่าพันธุ์หรือเพื่อนฝูง  เสมือนโขลงช้าง ที่มีช้างพัง  และช้างพลายเป็นบริวารห้อมล้อมมิได้หลงลืมตนช้างพังยังรักและภูมิใจในโขลงช้างตนเอง
          2.13 บทโศกังหรือบทอนิจจัง  เป็นการร่ายรำประกอบบทร้องเปรียบเทียบให้รู้จักปลงสังขารตนเอง  ว่าคนเราเกิดมาทุกคนจะต้องตายแล้วแต่ใครจะตายก่อนหรือจะตายหลัง แต่เมื่อตายมิได้เอาสิ่งใดติดตัวไปนอกจากความดีและความชั่วจะขึ้นสวรรค์หรือจะตกนรกนั้นขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเอง
          2.14 ดอกจิกดอกจัก เป็นการร่ายรำประกอบบทร้องที่แสดงถึงความพยามของชายหนุ่มที่เฝ้าถนอมหญิงสาวที่ตนรัก  ด้วยการช่วยเหลือสร้างไมตรีแต่ในที่สุดก็เสียกำลังใจเพราะมีชายอื่นมาพรากจากคนรักไปเปรียบเสมือนกับปลูกต้นไม้คอยดูแลตั้งแต่แตกหน่อจน แตกยอดคอยรดน้ำพรวนดินเมื่อผลิดอกออกผลก็ให้ผู้อื่นเก็บเกี่ยวไป
          2.15  บทสิบสอง  เป็นการแสดงละครเฉพาะตอนสั้นจำนวนสิบสองเรื่องต่อเนื่องกันไปโดยมีตัวละครเพียงสองตัวคือพรานและนายโรงโดยใช้จังหวะเพลงทับเพลงโทนและการบรรยายเล่าเรื่องประกอบกันไปของตัวละคร

          2.16 บทตั้งเมือง  เป็นการร่ายรำประกอบการร้องบทในจังหวะเพลงทับเพลงโทนเพื่อขอขมาแม่ธรณีหรือเพระภูมิเจ้าที่ เทวดาทั่วทิศเพื่อตั้งเมืองหรือใช้สถานที่ในการแสดงโนรา

ขอขอบคุณข้อมูลจากเอกสารมหาวิทยาลัยทักษิณสงขลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น