วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ขั้นตอนและพิธีกรรมโนราโรงครู

ขั้นตอนและพิธีกรรมโนราโรงครู
                        การแสดงโนราโรงครูมีขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมและการแสดงใช้เวลา 3 วัน 2คืนกำหนดวันแรกคือวันพุธ  วันพฤหัสบดีและวันศุกร์ในแต่ละวันจะมีจุดมุ่งหมาย  ความสำคัญและประโยชน์คุณค่าของพิธีกรรมการแสดงต่อไปนี้

(รูปการแสดงโนราในงานมหกรรมโนราโรงครู)
พิธีกรรมวันพุธ  
                        เป็นวันแรกของพิธีกรรม  เริ่มจากเจ้าภาพจะต้องให้หมอไหว้พระภูมิเจ้าที่   ตอนเช้า ณ บริเวณบ้านหรือโรงโนรา   เพื่อเป็นศิริมงคลเมื่อถึงเวลาตอนเย็น     คณะโนราได้เดินทางมาถึงบ้านเจ้าภาพจะต้องนำขันหมากไปรับโนรา   เป็นการให้เกียรติและแสดงความเคารพ   แก่คณะโนราโดยนายโรงจะทำพิธีทักโรง (บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง)  และเข้าโรงโนราเป็นคนแรกหลังจากนั้นคณะโนราเจ้าเข้ามาในโรงพร้อมอุปกรณ์ต่างๆ   ช่วงระยะเวลาดังกล่าวเป็นเวลาโพล้เพล้   หรือ เวลาที่นกกำลังชุมรังเมื่อวางอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว   โนราจะนำเครื่องดนตรีมาวางกลางโรงเรียกว่า   ตั้งเครื่องบรรเลงจังหวะโดยทั่วไปสั้นๆ ไม่เกินห้านาทีเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของเครื่องดนตรีเป็นการเสร็จพิธีการตั้งเครื่อง  หลังจากนั้นจะเป็นการประกอบพิธี  ดังต่อไปนี้
                        1.เบิกโรง  เพื่อขอสถานที่ตั้งโรงโนราและเปิดโรงพิธีให้ครูหมอเข้าสู่โรงพิธี
                        2.ลงโรง  เพื่อประกาศให้ทราบว่ามีการแสดงโนรา
                        3.กาดครู  เป็นการร้องกลอนเพื่อสรรเสริญครู
                        4.ชุมนุมครูเทวดา  เป็นการร้องเชิญวิญญาณครูและเทวดาให้เข้ามา
                        5.กราบครู  เป็นการกราบครูขออธิษฐานขออำนาจครูหมอดลบันดาลให้เจริญรุ่งเรืองมีลาภผลห่างพ้นภัยอันตราย
                        6.เซ่นครูหมอ  การจุดธูปเทียนและประพรมเหล้าไปที่เครื่องบูชา
                        7.รำถวายครู  โดยโนราใหญ่จับบทตั้งเมืองเพื่อระลึกถึงเมืองของพระยาสายฟ้าฟาดคือโรงโนรา
                        8.รำเล่นสนุก  เป็นการรำโนราเพื่อความสนุกสนานจะรำแบบโบราณหรือรำแบบสมัยนิยมก็ได้

(รูปการแสดงโนราในงานมหกรรมโนราโรงครู)

พิธีกรรมวันพฤหัสบดี
ถือว่าเป็นวันพิธีใหญ่จะมีขนบนิยม  2  แบบคือ
                        1.รำเพื่อแก้บนและแก้เหมรย
                        2.รำเพื่อประกอบพิธีกรรมเบ็ดเตล็ดต่างๆ เช่น ครอบครู สอดไหมร
จากพิธีกรรมในวันนี้จะมีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน
                        1.พิธีกรรมขอความเป็นศิริมงคลแก่โนรา     เป็นพิธีตอนต้นซึ่งมีการกาดครู   ชุมนุมครู ไหว้สัสดี    จับบทแสงทอง   หลังจากนั้นจะเตรียมตัวประกอบพิธีเบ็ดเตล็ดต่าง ๆ  เช่น  ครอบครูโนรา  สอดเครื่อง  สอดไหมร
                        2.พิธีกรรมการรำถวายครูหมอเป็นพิธีการซึ่งมีวีธีการแต่งพอก    เพื่อรำในกระบวนการหลักของโนรา    โนราโรงครูรำให้ครบสิบสองบทตั้งแต่บทคุณครู     บทครูสอน    บทสอนรำ   บทปฐม   บทลูกอ่อน   บทฝนตกข้างเหนือ   บทฟ้าลั่น   บทกาน้ำ   บทใจชาย  บทโสกัง  บทระไวระเวก  บทพลายงาม  รำท่าครูสิบสองท่าถวายศาล  และแสดงเรื่องสิบสองเรื่อง  หลังจากรำเสร็จแล้วจะมีพิธีการรักษาโรค
                        3.พิธีการเชิญครูหมอมาเข้าทรง  และรับเครื่องสังเวย    จะเริ่มทำพิธีตอนกลางคืน   เริ่มตั้งแต่ลงโรง  กาดครู   เชิญครู   ชุมนุมเทวดา   เชิญครูหมอตายายมาประทับทรง    และพบปะเจ้าภาพ  ลูกหลาน  และแก้บนต่าง ๆ   หลังจากแก้บนหมดทุกคน     แล้วเชิญครูหมอกลับ

(รูปการแสดงโนราในงานมหกรรมโนราโรงครู)

พิธีกรรมวันศุกร์
                        เป็นวันที่สามหรือเป็นวันส่งครูในวันนี้จะมีพิธีกรรม 3 อย่างคือ 1.พิธีชาครูหมอ
2.พิธีส่งครู 3.พิธีตัดเหมรย  ซึ่งมีรายละเอียด  ดังนี้
                        1.พิธีชาครูหมอเ ป็นพิธีที่เจ้าภาพและลูกหลานรวบร่วมเงินทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ตายายโนราโดยโนราใหญ่   เป็นผู้ร้องกลอนชา    (บูชา)   และขอพรจากครูหมอตายายโนรามาช่วยคุ้มครองในโชคลาภ
                        2.พิธีส่งครู ส่งเทวดา เป็นการร้องส่งครูหมอตายายโนราและเทวดาทั้งหมดที่เชิญมาสู่พิธีให้กลับที่ของตน
                        3.พิธีตัดเหมรย เป็นพิธีที่แสดงว่าสัญญาและพันธะที่เจ้าภาพได้บนบาลไว้    กับครูหมอโนราได้ขาดกันแล้ว     เพราะได้แก้บนให้แล้วในพิธีจึงทำเอาเคล็ด     โดยโนราใหญ่ใช้พระขรรค์ตัดสิ่งต่างๆในโรงโนราเช่น เชือกมัดขือโรง บายศรีท้องโรง จากบนศาลสามตับ เชือกผูกผ้าเพดาล ห่อเหมรย   ที่วางบนศาลพร้อมว่าคาถากำกับหลังจากนั้นมาพลิกเสื้อคล้ากลางโรงให้หายขึ้นเป็นการเลิกหรือลาโรง
                                จากพิธีกรรมดังกล่าว         สื่อให้เห็นจารีตประเพณีที่เหมาะสม     และถูกต้องตามกาลเทศะซึ่งครูโนราได้วางเป็นแบบแผนที่ดีเอาไว้ให้ปฏิบัติต่อกันมาพิธีกรรมต่างๆ จะเริ่มต้นดังนี้พิธีเริ่มตอนสายๆของเช้าวันศุกร์ เริ่มลงโรงกาดครู  ชุมนุมครู  ชุมนุมเทวดา โนราทั้งหมดรำถวายครูรำสิบสองบทและเล่นสิบสองเรื่องแบบสั้นๆ   หลังจากนั้นร้องบทชาครูหมอ บทส่งครูส่งเทวดา ตัดเหมรย และลาโรง
                                ถ้าหากบางแห่งเจ้าภาพบนไว้ว่ามีคล้องหงส์แทงเข้จะต้องรำบทคล้องหงส์และบทแทงเข้หือแทงจระเข้ก่อนแล้วจึงตัดเหมรยและลาโรงซึ่งพิธีกรรมต่างๆเหล่านี้เริ่มตั้งแต่ตอนสายละสิ้นสุดไม่เกินบ่ายสามโมง

ขอขอบคุณข้อมูล จากเอกสารวารสารมหาวิทยาลัยทักษิณสงขลา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น