วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

เครื่องดนตรีหนังตะลุง ศาสตร์ศิลป์ทางเสียงหนัง

เครื่องดนตรีหนังตะลุงศาสตร์ศิลป์ทางเสียงหนัง

             เครื่องดนตรี เดิมหนังตะลุงใช้เครื่องคนตรีน้อยชิ้น ที่สำคัญมี ทับ 1 คู่ เป็นตัวคุมจังหวะและทำนอง  โหม่ง 1 คู่ สำหรับประกอบเสี่ยงร้องกลอน กลองตุ๊ก 1 ลูก สำหรับขัดจังหวะทับ ฉิ่ง 1 คู่ สำหรับชัดจังหวะโหม่ง และปี่ 1เลา สำหรับเดินทำนอง แต่ ระยะหลังมีดนตรีอื่น  เข้าไปประสมหรืออาจใช้แทนดนตรีดั้งเดิม เช่น ใช้กลองชุดและกลองทอมบ้าแทนกลองตุ๊ก ใช้ไวโอลิน ออร์แกน กีตาร์ ชอ หรือจะเข้เข้าผสมกับปี่ บางคณะก็เลิกใช้ปี่ 

             สมัยอดีตชาวบ้านในท้องถิ่นประดิษฐ์ขึ้นได้เอง มี ทับ กลอง โหม่ง ฉิ่ง เป็นสำคัญ ส่วน ปี่ ซอ นั้นเกิดขึ้นภายหลัง แต่ก็ยังเป็นเครื่องดนตรีที่ชาวบ้านประดิษฐ์ได้เองอยู่ดี จนเมื่อมีวัฒนธรรมภายนอกเข้ามา โดยเฉพาะดนตรีไทยสากล หนังตะลุงบางคณะจึงนำเครื่องดนตรีใหม่ ๆ เข้ามาเสริม เช่น กลองชุด กีตาร์ ไวโอลิน ออร์แกน เมื่อเครื่องดนตรีมากขึ้น จำนวนคนในคณะก็มากขึ้น ต้นทุนจึงสูงขึ้น ทำให้ต้องเรียกค่าราด (ค่าจ้างแสดง) แพงขึ้น ประจวบกับการฉายภาพยนตร์แพร่หลายขึ้น จึงทำให้มีคนรับหนังตะลุงไปเล่นน้อยลง การนำเครื่องดนตรีสมัยใหม่เข้ามาเสริมนี้ บางท่านเห็นว่าเป็นการพัฒนาให้เข้ากับสมัยนิยม แต่หลายท่านก็เป็นห่วงว่าเป็นการทำลายเอกลักษณ์ของหนังตะลุงไปอย่างน่าเสียดาย

             เครื่องดนตรีสำคัญของหนังตะลุงคือทับ ทับของหนังตะลุงเป็นเครื่องกำกับจังหวะและท่วงทำนองที่สำคัญที่สุด ผู้บรรเลงดนตรีชิ้นอื่น ๆ ต้องคอยฟังและยักย้ายจังหวะตามเพลงทับ เพลงที่นิยมเล่นมีถึง 12 เพลง คือ เพลงเดิน เพลงถอยหลังเข้าคลอง เพลิงเดินยักษ์ เพลงสามหมู่ เพลงนาดกรายออกจากวัง เพลงนางเดินป่า เพลงสรงน้ำ เพลงเจ้าเมืองออกสั่งการ เพลงชุมพล เพลงยกพล เพลงยักษ์ และเพลงกลับวัง นักดนตรีที่สามารถตีทับได้ครบทั้ง 12 เพลง เรียกกันว่า "มือทับ" เป็นคำยกย่องว่าเป็นคนเล่นทับมือฉมัง ทับหนังตะลุงมี 2 ใบ ใบหนึ่งเสียงเล็กแหลม เรียกว่า "หน่วยฉับ" อีกใบหนึ่งเสียงทุ้ม เรียกว่า "หน่วยเทิง" ทับหน่วยฉับเป็นตัวยืน ทับหน่วยเทิงเป็นตัวเสริม หนังตะลุงในสมัยโบราณมีมือทับ 2 คน ต่อมา เมื่อประมาณ 60 ปีมาแล้ว หนังตะลุงใช้มือทับเพียงคนเดียว โดยใช้ผ้าผูกทับไขว้กัน เวลาเล่นบางคนวางทับไว้บนขา บางคนก็พาดขากดทับเอาไว้ไม่ให้เคลื่อนที่

             โดยทั่วไป ตัวทับ หรือที่เรียกกันว่า "หุ่น" นิยมทำจากแก่นไม้ขนุน เนื่องจากตบแต่งและกลึงได้ง่าย บางครั้งก็ทำจากไม้กระท้อน โดยตัดไม้ออกเป็นท่อน ๆ ยาวท่อนละประมาณ 60 เซนติเมตร ใช้ขวานถากเกลาให้เป็นรูปคล้ายกลองยาว จากนั้นนำมาเจาะภายในและกลึงให้ได้รูปทรงตามต้องการ ลงน้ำมันชักเงาด้านนอก ทับเป็นเครื่องดนตรีที่ขึงหนังหน้าเดียว ขึ้นหน้าด้วยหนังบาง ๆ ส่วนใหญ่จะใช้หนังค่าง ตรงแก้มทับใช้เชือกหรือหวายผูกตรึงกับหุ่นให้แน่น มีสายโยงเร่งเสียงโดยใช้หนังเรียดโยงจากขอบหนังถึงคอทับ ก่อนใช้ทุกครั้ง ต้องชุบน้ำที่หนังหุ้ม ใช้ผ้าขนาดนิ้วก้อยอัดที่แก้มทับด้านใน เพื่อให้หนังตึงมีเสียงไพเราะกังวาน เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น