วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

โรคโนราย่างฤทธิ์อำนาจครูหมอโนรา

 

โรคโนราย่างฤทธิ์อำนาจครูหมอโนรา

              โรคหรืออาการเจ็บป่วยที่ชาวไทยภาคใต้มีความเชื่อว่าเกิดจากอำนาจหรือการกระทำของสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ  ในกรณีนี้หมายถึง “ครูหมอโนรา” (ครูหมอโนราถือเป็นบรรพบุรุษของโนรา  สามารถรำโนราได้  คนไทยทางภาคใต้ส่วนใหญ่มีบรรพบุรุษเป็นโนรา เพราะเชื่อว่าเป็นศิลปะชั้นสูง มีต้นกำเนิดมาจากกษัตริย์  คนที่จะรำโนราได้จึงหมายถึงเป็นคนที่มีบุญญาบารมี ดังนั้นในอดีตคนส่วนใหญ่จึงมีการหัดรำโนรากันโดยเหตุนี้ทำให้คนไทยทางภาคใต้มักมีเชื้อสายของโนรา) ซึ่งการจะหายขาดได้นั้นต้องได้รับการยินยอมจากครูหมอโนราก่อน เมื่อผู้ใดเกิดการเจ็บป่วยหรือมีอาการที่เชื่อว่าครูหมอโนราเป็นผู้กระทำก็จะมีพิธีกรรมเฉพาะสำหรับการเยียวยารักษาหรือแก้ไขภาวะการเจ็บป่วยนั้น  โดยผู้ป่วยหรือญาติผู้ป่วยสามารถติดต่อครูหมอผู้กระทำโดยผ่านร่างทรงเพื่อให้ครูหมอยินยอมรักษาเยียวยาและยกโทษให้   โรคหรืออาการเจ็บป่วยนั้นมีลักษณะเฉพาะตามความเชื่อซึ่งชาวไทยทางภาคใต้ได้ให้ความหมายของโรคหรืออาการนั้นว่า  “โนราย่าง” (โนราย่าง (มโนห์ราย่าง) เป็นอาการที่บุคคลป่วยกระเสาะกระแสะ  เนื่องจากครูหมอโนราให้โทษ จะรักษาเยียวยาหรือหาหมอหรือทำการรักษาอย่างไรก็ไม่หาย  อาการมีแต่ทรงกับทรุดแต่จะไม่ถึงตาย  ส่วนใหญ่มักซูบผอมไม่ยอมกินข้าวกินปลา   ซักถามสิ่งใดก็ไม่ค่อยพูดหรือพูดแต่จับใจความไม่ได้  ร่างกายมีสภาพเขียวคล้ำคล้ายผิวเกรียมไหม้)    ซึ่งอาการเช่นนี้ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า  อาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งต่อไปนี้

.

                 ๑. ลูกหลานผู้สืบเชื้อสายของครูหมอโนราไม่บวงสรวงสักการะบูชาครูหมอโนราซึ่งถือเป็นเชื้อสายต้นหรือขาดการเซ่นไหว้ครูตามวาระที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา   เช่น  เดิมเคยจัดบวงสรวงทุกๆ ๒  ปี  แต่เมื่อครบกำหนดกลับไม่มีการจัดบวงสรวง  ก็จะมีเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยได้

                 ๒. ได้มีการบนบานต่อครูหมอมโนห์ราไว้อย่างใดอย่างหนึ่ง     ครั้นเป็นจริงตามที่ได้บนบานไว้ก็มิได้มีการแก้บนตามพันธะสัญญา  (ซึ่งภาษาทางโนราเรียกพันธะสัญญาว่า “เหฺมฺรย” (อ่านว่า ม-เหรย โดยออกเสียง “ร” ควบกล้ำ)) เกิดการลงโทษจากครูหมอโนรา  ทำให้เกิดการเจ็บป่วยเนื่องจากการผิดพันธะสัญญานั้นเรียกว่า  “ถูกเหฺมฺรย”

                 ๓. มีการกระทำการหรือประพฤติตนที่ไม่เหมาะสม    เช่น    พูดจาหรือแสดงพฤติกรรมในเชิงดูถูกดูแคลนปรามาศครูหมอหรือกรณีที่หิ้งบูชาเกิดชำรุดหักพังแล้วมิได้มีการซ่อมแซม นอกจากนี้การเก็บเครื่องดนตรี  เครื่องแต่งกาย  เครื่องประดับของโนราไว้ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม   เช่น  ใต้ถุนบ้านหรือวางไว้ระเกะระกะ  ไม่เป็นระเบียบ   เหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ถูกครูหมอลงโทษได้

          อาการเจ็บป่วยที่เกิดจากครูหมอลงโทษจะแตกต่างจากอาการเจ็บป่วยทั่วๆ ไป    เพราะผู้ป่วยมักแสดงอาการหรือกิริยาบางอย่างให้เห็นเป็นนัยๆ ว่าครูหมอเป็นผู้กระทำ เช่น  นอนละเมอเป็นกาพย์กลอนหรือร้องรำแบบโนรา, ส่งเสียงร้องตกใจว่าจะมีใครมาทำร้าย,   บ่นว่าอยากจะกินอาหารที่ครูหมอโปรดปรานเป็นพิเศษเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ตลอดจนมีเหตุการณ์ที่ครูหมอหรือภูติผีอื่นๆ มาเข้าทรงและบอกให้ทราบถึงสาเหตุของการเจ็บป่วย  เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น