วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

ตำนานประวัติความเป็นมาโนรา ตำนานที่๒ เล่าโดยโนราวัด จันทร์เมือง


ตำนานประวัติความเป็นมาโนรา ตำนานที่๒

           ตำนานที่ ๒  เล่าโดยโนราวัด จันทร์เมือง ตำบลพังยาง อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ความว่า ท้าวมัทศิลป์ นางกุญเกสี เจ้าเมืองปิญจา มอบราชสมบัติให้เจ้าสืบสาย ราชโอรสขึ้นครองแทน โดยแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดและมอบพี่เลี้ยงให้ ๖ คน ชื่อนายทอง นายเหม นายบุษป์ นายวงศ์ นายตั้น และนายทัน โดยแต่งตั้งให้คนแต่ละคนมีบรรดาศักดิ์และหน้าที่ดังนี้ นายทองเป็นพระยาหงส์ทอง ตำแหน่งทหารเอกฝ่ายขวา นายเหมเป็นพระยาหงส์เหมราช ตำแหน่งทหารเอกฝ่ายซ้าย นายบุษป์เป็นขุนพิจิตรบุษบา ตำแหน่งปลัดขวา นายวงศ์เป็นพระยาไกรยวงศา ตำแหน่งปลัดซ้าย นายตั้นเป็นพระยาหริตันปัญญา ตำแหน่งขุนคลัง และนายทันเป็นพระยาโกนทันราชาให้เป็นใหญ่ฝ่ายปกครอง 

                เจ้าพระยาฟ้าฟาดมีชายาชื่อศรีดอกไม้ มีธิดาชื่อนวลสำลี นางนวลสำลีมีพี่เลี้ยง ๔ คน คือ แม่แขนอ่อน แม่เภา แม่เมาคลื่น และแม่ยอดตอง เมืองนางนวลสำลีเจริญวัย พระอินทร์คิดจะให้มีนักรำแบบใหม่ขึ้นในเมืองกุลชมพู เพิ่มจากหัวล้านชนกันและนมยานตีเก้งซึ่งมีมาก่อน จึงดลใจให้นางนวลสำลีอยากกินเกสรบัว ขณะที่นางกินเกสรบัว พระอินทร์ก็ส่งเทพบุตรไปปฏิสนธิในครรภ์ของนาง จากนั้นมานางรักนางรักแต่ร้องรำทำสนุกสนานแม้เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจะห้ามปราม แต่พบลับหลังก็ยิ่งสนุกสนานยิ่งขึ้น เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจึงสั่งเนรเทศโดยให้จับลอยแพพร้อมด้วยพี่เลี้ยงไปเสียจากเมือง 

            พระยาหงส์ทองกับพระยาหงส์เหมราชเห็นเช่นนั้นจึงวิตกว่า ขนาดพระธิดาทำผิดเพียงนี้ให้ทำโทษถึงลอยแพ ถ้าตนทำผิดก็ต้องถึงประหาร จึงหนีออกจากเมืองเสีย แพของนางนวลสำลีลอยไปติดเกาะกะชัง นางคลอดบุตรที่เกาะนั้นให้ชื่อว่าอจิตกุมาร เมื่ออจิตกุมารโตขึ้นก็หัดร้องรำด้วยตนเอง โดยดูเงาในน้ำเพื่อรำให้สวยงาม และสามารถรำท่าแม่บทได้ครบ ๑๒ ท่า ต่อมาข่าวการรำแบบใหม่นี้ได้แพร่ไปถึงเมืองปิญจา เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดจึงให้คนไปรับมารำให้ชาวเมืองดู คณะของอจิตกุมารถึงเมืองปิญจาวันพุธตอนบ่ายโมง เมื่ออจิตกุมารรำคนก็ชอบหลงใหล 

             ฝ่ายนางนวลสำลีและพี่เลี้ยงได้เล่าความหลังให้อจิตกุมารฟัง อจิตกุมารจึงหาทางจนได้เฝ้าพระเจ้าตา เมื่อทูลถามว่าที่ขับไล่นางนวลสำลีนั้นชาวเมืองชอบใจหรือไม่พอใจ เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดว่าไม่รู้ได้ แต่น่าจะพอใจ เพราะเห็นได้จากที่พระยาหงส์ทองและพระยาหงส์เหมราชหนีไปเสียคงจะโกรธเคืองในเรื่องนี้ อจิตกุมารถามว่าถ้าพระยาทั้งสองกลับมาจะชุบเลี้ยงหรือไม่ เมื่อเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดว่าจะชุบเลี้ยงอีก อจิตกุมารจึงทำพิธีเชิญพระยาทั้งสองให้กลับโดยทำพิธีโรงครู ตั้งเครื่องที่สิบสองแล้วเชิญครูเก่าแก่ให้มาดูการรำถวายของเขาและเชิญมากินเครื่องบูชา เมื่อเชิญครูนั้นได้เชิญพระยาทั้งหกซึ่งเป็นพี่เลี้ยงเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดขึ้นกินเครื่องบูชาด้วย

             เมื่อทุกคนได้เห็นการรำก็พอใจหลงใหลแต่เสียตรงที่เครื่องแต่งกายเป็นผ้าเก่าๆ ขาด ๆ จึงหยิบผ้ายกที่จัดไว้เป็นเครื่องบูชาให้เปลี่ยนแทน พอเปลี่ยนแล้วเห็นว่ารำสวยยิ่งขึ้น แจ้าพระยาสายฟ้าฟาดเห็นดังนั้นจึงเปลื้องเครื่องทรงและถอดมงกุฎให้ และกำหนดเป็นหลักปฎิบัติว่า ถ้าใครจะรับดนราไปรำต้งอมีขันหมากให้ปลูกโรงรำกว้าง ๙ ศอก ยาว ๑๑ ศอก ให้โรงรำเป็นเขตกรรมสิทธิ์ของคณะผู้รำ  อจิต กุมารรำถวายครูอยู่ ๓ วัน ๓ คืน พอถึงวันศุกร์จึงเชิญครูทั้งหมดให้กลับไป เสร็จพิธีแล้วเจ้าพระยาสายฟ้าฟาดให้เปลี่ยนชื่อธิดาเพื่อให้สิ้นเคราะห์จาก นางนวลสำลีเป็นศรีมาลาให้เปลี่ยนชื่อจิตกุมารเป็นเทพสิงสอน แล้วพระราชทานศรและพระขรรค์ให้ด้วย จากนั้นพระเทพสิงสอนได้เที่ยวเล่นรำยังที่ต่างๆ พระยา ๔ คนขอติดตามไปเล่นด้วย ขุนพิจิตรบุษบากับพระยาไกรยวงศา เล่นเป็นตัวตลก สวมหน้ากากพราน จึงเรียกขานต่อมาว่าขุนพราน พระยาพราน พระยาโกนทันราชาแสดงการโถมน้ำส่วนพระยาหริตันปัญญาแสดงการลุยไฟให้คนดู จึงได้นามเรียกขานกันต่อมาว่า พระยาโถมน้ำ และพระยาลุยไฟ ตามลำดับ  เมืองปัญจา เจ้าเมืองชื่อท้าวแสงอาทิตย์ ชายาชื่อกฤษณา มีโอรสชื่อศรีสุธน ศรีสุธนมีชายาชื่อกาหนม มีพรานปืน ๑ คน คอยรับใช้ชื่อบุญสิทธิ์ พรานออกป่าล่าเนื้อมาส่งส่วยทุก ๗ วัน ครั้งหนึ่งหาเนื้อไม่ได้ แต่ได้พบนาง ๗ คนมาอาบน้ำที่สระอโนตัด ครั้นกลับมาเข้าเฝ้าพระราชาและทูลว่าหาเนื้อไม่ได้ จึงถูกภาคทัณฑ์ว่าถ้าหาเนื้อไม่ได้อีกครั้งเดียวจะถูกตัดหัว พรานจึงคิดจะไปจับนางทั้ง ๗ คนมาถวายแทนสัก ๑ คน  นางทั้ง ๗ คนเป็นลูกท้าวทุมพร เดิมท้าวทุมพรเป็นนายช่างของเมืองปัญญา ท้าวแสงอาทิตย์ให้สร้างปราสาทให้สวยที่สุด 

             ครั้นสร้างเสร็จท้าวแสงอาทิตย์เกรงว่าถ้าเลี้ยงไว้ต่อไปจะไปสร้างปราสาทให้เมืองอื่นอีกและจะทำให้สวยกว่าปราสาทเมืองปัญจา จึงสั่งให้ฆ่าท้าวทุมพรเสีย ท้าวทุมพรหนีไปอยู่เมืองไกรลาส มีเมียชื่อเกษณี มีลูกสาว ๗ คน ชื่อจันทรสุหรี ศรีสุรัต พิม พัด รัชตา วิมมาลา และโนรา เมื่อลูกสาวจะไปอาบน้ำที่สระอโนตัด ท้าวทุมพรได้ทำปีกหางให้บินไป ครั้งหนึ่ง ขณะนางทั้ง ๗ คนอาบน้ำที่สระอโนตัด พรานบุญลักปีกหางนางโนรา แล้วไปขอร้องพญานาคเกลอมาช่วยจับพญานาคนี้เดิมเคยถูกครุฑเฉี่ยว พรานบุญสิทธิ์ได้ช่วยชีวิตไว้ ครั้นพรานขอร้องจึงให้การช่วยเหลือ พรานนำนางโนราไปถวายพระศรีสุธนๆ รับไว้เป็นชายา ต่อมาข้าศึกเมืองพระยาจันทร์ยกมาตีปัญจา พระศรีสุธนออกศึก แล้วตามไปปราบถึงเมืองพระยาจันทร์ อยู่ข้างหลังนางกาหนมหาอุบายจะฆ่านางโนรา โดยจ้างโหรให้ทำนายว่าพระศรีสุธนมีพระเคราะห์จะไม่ได้กลับเมือง ถ้าไม่ได้ทำพิธีบูชายัญและการบูชายัญนี้ให้เอานางโนราเผาไฟ นางโนราจึงออกอุบายขอปีกหางสวมใส่เพื่อรำให้แม่ผัวดูก่อนตาย และให้เปิดจาก ๗ ตับ เพื่อรำถวายเทวดา 

             นางรำจนเพลินแล้วบินหนีไปเมืองไกรลาส พระสุธนตามไปจนได้รับกลับเมือง ต่อมาพรานบุญสิทธิ์ได้พบน้ำสุราที่คาคบไม้ ดื่มแล้วนึกสนุก เดินทางไปพบเทพสิงสอนเที่ยวรำเล่นอยู่ จึงสมัครเข้าเป็นพราน เมื่อเทพสิงสอนอายุได้ ๒๕ ปี เจ้าพระยาสายฟ้าฟาดให้บวช ในพิธีบวชมีการตัดจุกใหญ่โต พรานบุญจึงนำเรื่องนางโนราทีตนพบมาเล่าและดัดแปลงขึ้นเล่นในครั้งนั้น โดยเล่นตอนคล้องนางโนราที่เรียกว่า "คล้องหงส์"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น