วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ภาพโนราบ้านนาพรุ ตำบลบ้านนาพรุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ภาพโนราบ้านนาพรุ
ตำบลบ้านนาพรุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

(สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ภาพจากวิดีพีเดีย) 


                   ภาพโนราบ้านนาพรุ ตำบลบ้านนาพรุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โนราบ้านนาพรุ เป็นภาพเขียนโนราลายเส้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ เมื่อคราวเสด็จไปตรวจเยี่ยมราชการแหลมมาลายู ร.ศ.121 (พ.ศ. 2445) โดยพระองศ์เสด็จตรวจเยี่ยมราชการเมืองสงขลา ตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน ร.ศ.121 จนถึงเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ร.ศ.121 ในระหว่างการเดินทางแต่ละเมือง จะมีเจ้าเมืองและประชาชนมาถวายการต้อนรับ พร้อมกับมีมหรสพแสดงให้ชมอยู่เป็นประจำตลอดระยะเวลาในการเดินทางหรือการหยุดพักผ่อนมหรสพที่มาแสดงได้แก่โนรา หนังตะลุง ซึ่งมาแสดงให้ชมประมาณ 7 ครั้ง จนกระทั่งมาถึงเมืองนครศรีธรรมราชดังพระนิพนธ์ในจดหมาย (กรมศิลปากร, 2516 : 50 - 51.)
                    พฤหัสบดี ที่ 27 มิถุนายน ร.ศ.121 เวลา 4:55 ถึงศาลานายพร้อม ตำบลบ้านพรุ หยุดพักม้า ที่นี่เขามีโนราให้ดูเป็นโนราของกำนันบ้านนี้

(กรมศิลปากร,วารสารศิลปากร ปีที่ 17 เล่มที่ 3,2516,หน้า 24.)

                   จากพระปรีชาสามารถของพระองค์และความสนิทสนมกับศิลปินโนราที่มาแสดงให้ชมทุกครั้งเกือบทุกสถานที่ พระองค์จดจำรูปร่างและท่ารำได้อย่างแม่นยำ จึงได้วาดภาพลายเส้นโนราประกอบในจดหมายตรวจราชการ ภาพโนราลายเส้นที่ปรากฏนี้เป็นภาพโนราผู้ชายรูปร่างสวยงามกำลังเดินร่ายรำในท่าเขาควายซึ่งมองเห็นเอกลักษณ์โครงสร้างบุคลิกท่ารำโนราอย่างชัดเจนคือ การย่อเข่า การทรงตัวโน้มไปข้างหน้า การแอ่นอก เชิดหน้า และวงมือโค้งเหลี่ยมเหมือนเขาควาย โนราจะแต่งชุดแบบโบราณได้แก่การสวมเทริด สวมเล็บ สวมสังวาลและมีหางหงส์ประดับด้านหลังพร้อมกับคาดปั้นเหน่ง และปีกนกแอ่น ต้นแขน ปลายแขนมิได้สวมชุดลูกปัดตลอดทั้งตัวเหมือนปัจจุบัน นอกจากนี้มีการนุ่งสนับเพลายาวกรอมข้อเท้า มีผ้าห้อยยาวเลยเข่า ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมการแต่งตัวโนราในยุคนั้น ภาพดังกล่าวจะสื่อให้เห็นถึงความสวยงาม บุคลิกกับรูปร่างของผู้รำโนรา และขนบนิยมการแต่งกายได้อย่างชัดเจน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น