รำโนราเฆี่ยนพรายและรำโนราเหยียบลูกมะนาว
รำโนราเฆี่ยนพรายและรำโนราเหยียบลูกมะนาว
เป็นการรำประกอบพิธีไสยศาสตร์ของโนรา
รำเฉพาะโอกาสที่มีการแข่งขันกับโนราคณะอื่นเท่านั้น
เป็นทำนองตัดไม้ข่มนามโนราฝ่ายตรงข้ามและเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับคณะของต้น การแข่งขันโนราในสมัยก่อน
โนราแต่ละฝ่ายจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเอาชนะฝ่ายตรงข้ามให้ได้
นอกจากจะเอาชนะกันด้วยความสามารถในการแสดงแล้วมีทางอื่นที่จะช่วยให้เอาชนะได้ก็จะทำ
โดยเฉพาะการใช้ไสยศาสตร์ การรำเฆี่ยนพรายก็เป็นส่วนหนึ่งของพิธีไสยศาสตร์
ผู้รำคือหัวหน้าคณะหรือที่เรียกว่า "โนราใหญ่"
ขณะรำจะมีหมอไสยศาสตร์ที่เรียกว่า "หมอกบโรง" ทำพิธีไปพร้อมๆกัน
(ที่มาของภาพ สถาบันทักษิณคดีศึกษา)
เมื่อดนตรีโนราทำเพลงเชิด
หมอกบโรงถือหม้อน้ำมนต์ ไม้หวายเฆี่ยนพราย มะนาว ๓ ผล และ ใบตองหรือกระดาษ
เดินนำหน้าโนราใหญ่ออกมาถึงกลางโรง หมอนั่งลงบริกรรมคาถาลงขระที่ไม้หวายเฆี่ยนพราย
เอายอดใบตองหรือกระดาษมาเขียนชื่อโนราใหญ่ที่เป็นคู่แข่ง
ลงยันต์ม้วนให้กลมหักหัวท้าย แล้วใช้ด้ายผูกมัดเหมือนตราสังข์
สมมุติเป็นรูปร่างของตัวโนราคู่แข่งวางรูปนั้นลงบนพื้นโรง ขณะที่หมอทำพิธีอยู่นั้น
โนราใหญ่รำท่าเพลงโค ซึ่งมีลีลาสง่างามมีอำนาจและเคร่งขรึม
รำไปสักครู่หมอจะวางไม้หวายเฆี่ยนพรายลงกลางโรง
โนราใหญ่แอ่นหลังจนศรีษะจรดพื้นเอาปากคาบไม้หวายนั้นได้แล้วก็รำเวียนรูปนั้นไปรอบๆ
รำชี้มือไปยังโนราฝ่ายตรงข้ามเรียกจิตวิญญาณให้มาสิงที่รูป ชี้รูปแล้วใช้ไม้หวายเฆี่ยนรูปนั้น
พร้อมกระทืบเท้า ทำเช่นนี้จนครบ ๓ ครั้ง สมมุติว่าโนราฝ่ายตรงข้ามตาย
โนราพร้อมลูกคู่ก็ยืนล้อมรูปที่ถูกเฆี่ยนด้วยอาการสำรวม แล้วกล่าวบทอนิจจังเบาๆ
จากนั้นหมอจะรับไม้หวายเฆี่ยนพรายไว้ โนราใหญ่จะรำเหยียบลูกมะนาวต่อกันไปเลย
โดยสมมุติว่ามะมาวเป็นหัวใจของโนราฝ่ายตรงข้าม
ภาวนาคาถาเรียกวิญญาณโนราฝ่ายตรงข้ามให้เข้ามาสิงอยู่กับมะนาวนั้น
นำมะนาวทีละผลมาหมุนกลางโรงให้โนราใหญ่เหยียบ
โนราใหญ่จะรำและหาจังหวะเหยียบมะนาวนั้นให้แตก ทำเช่นนี้จนเหยียบมะนาวหมดทั้ง ๓ ผล
การเหยียบต้องระวังมาก เชื่อว่าถ้าเหยียบพลาดหรือเหยียบไม่แตก
การแข่งขันครั้งนั้นจะเอาชนะโนราฝ่ายตรงข้ามได้ยาก แต่การเหยียบลูกมะนาวนี้
โนราบางคณะบางคนจะเหยียบเพียง ๒ ผล เท่านั้น
อีกผลหนึ่งจะขว้างไปยังโนราฝ่ายตรงข้าม ก่อนขว้างจะรำชี้ไปก่อน โนราชี้ไปทางไหน
คนดูจะแยกออกเป็นแนวโล่งตลอด ไม่กล้ายืนขวางทางที่โนราชี้เพราะเกรงจะถูกอาคม
เมื่อเหยียบลูกมะนาวเสร็จก็รำไปนั่งพักที่พัก (ที่กลางโรงโนรา ทำด้วยไม้ไผ่)
เป็นอันเสร็จพิธีการรำเฆี่ยนพราย
จากนั้นก็จะเป็นการรำชุดอื่นซึ่งไม่เกี่ยวกับพิธีไสยศาสตร์แต่อย่างใด
(ที่มาของภาพ ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์)
ในการรำนี้มีหมดกบโรงเป็นผู้ช่วยด้านพิธีกรรม ผลการศึกษาพบว่า การรำเฆี่ยนพราย-เหยียบลูกมะนาวอาจแบ่งออกได้เป็น 8 ขั้นตอน คือ พิธีกรรมก่อนรำ การรำอวดความสามารถเฉพาะตัว การเรียกจิตวิญญาณของฝ่ายตรงข้ามการรำเข้าหาตัวพราย การเฆี่ยนตัวพราย การรำเข้าหาลูกมะนาวการเหยียบลูกมะนาว และทำพิธีปลงอนิจจัง จากการเปรียบเทียบการรำของนายโรงโนราทั้ง 5 ท่าน พบว่า มี 2 แนว แนวที่ 1คือ มีการรำอวดความสามารถเฉพาะตัวในช่วงต้นของกระบวนรำเฆี่ยนพราย หลังจากนั้นเป็นการรำพร้อมกับการบริกรรมคาถาจนจบกระบวนรำ แนวที่ 2 คือการรำอวดความสามารถเฉพาะตัวสลับกับการรำพร้อมบริกรรมคาถาไปโดยตลอด สำหรับความเชื่อที่สอดแทรกอยู่ในการรำนี้พบว่า มีความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่ดัดแปลงมาจากคติในศาสนาพุทธ ฮินดู มุสลิม และการนับถือผีการแต่งกายของนายโรงโนราในการรำนี้เหมือนเครื่องแต่งกายของนายโรงโนราทั่วไป แต่โพกผ้ายันต์แทนการสวมเทริด ส่วนหมอกบโรงแต่งกายแบบพื้นบ้านธรรมดา ปัจจุบันการรำเฆี่ยนพราย-เหยียบลูกมะนาวหาดูได้ยากมากเนื่องจากโนราประชันโรงที่สมบูรณ์แบบไม่ค่อยมีจัดเหมือนในอดีต ดังนั้นควรมีการศึกษา การบันทึก และการสืบทอดการรำอันศักดิ์สิทธิ์นี้ไว้เป็นสมบัติของโนราสืบไป
(ที่มาของภาพ สถาบันทักษิณคดีศึกษา)
สมัยก่อนเมื่อมีการแข่งโนราจะต้องรำเฆี่ยนพรายเสมอ
เพราะเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับโนราในคณะ
บางครั้งว่ากันว่าการเฆี่ยนพรายมีผลทันตาเห็น เช่น
พอเฆี่ยนพรายและเหยียบลูกมะนาวเสร็จ
โนราฝ่ายตรงข้ามก็มีอันเป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งจนไม่สามารถรำได้
การรำเฆี่ยนพรายจึงเป็นเรื่องที่ขลังและน่ากลัว อย่างไรก็ตามสมัยหลังๆ
ความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ได้เสื่อมคลายลง
การแข่งโนราก็ไม่คือเป็นเรื่องจริงจังชนิดถึงขั้น "แพ้ไม่ได้"
อย่างสมัยก่อน การรำเฆี่ยนพรายจึงรำกันน้อยลงเรื่อยๆ
ปัจจุบันโนรารุ่นใหม่น้อยคนนักที่จะรำเฆี่ยนพรายได้ทั้งๆ ที่การรำชุดนี้งามสง่ามาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น