วันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2556

โนรา เอกลักษณ์ท่ารำอันทรงคุณค่าของภาคใต้

โนรา เอกลักษณ์ท่ารำอันทรงคุณค่าของภาคใต้


                 ท่ารำของโนราไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าทุกคนหรือทุกคณะจะต้องรำเหมือนกัน เพราะการรำโนรา คนรำจะบังคับเครื่องดนตรี หมายถึง คนรำจะรำไปอย่างไรก็ได้แล้วแต่ลีลา หรือความถนัดของแต่ละคน เครื่องดนตรีจะบรรเลงตามท่ารำ เมื่อผู้รำจะเปลี่ยนท่ารำจากท่าหนึ่งไปยังอีกท่าหนึ่ง เครื่องดนตรีจะต้องสามารถเปลี่ยนเพลงได้ตามคนรำ ความจริงแล้วท่ารำที่มีมาแต่กำเนิดนั้น  มีแบบแผนแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ารำในบทครูสอนสอนรำ และบทประถม ท่ารำเมื่อได้รับการถ่ายทอดมาเป็นช่วง ๆ  ทำให้ท่ารำที่เป็นแบบแผนดั้งเดิมเปลี่ยนแปลงไป เพราะหากจะประมวลท่ารำต่าง ๆของโนราแล้ว จะเห็นว่าเป็นการรำตีท่าตามบทที่ร้องแต่ละบท  การตีท่ารำจามบทร้องนี้เองที่เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้ท่ารำเปลี่ยนแปลงและแตกต่างกันออกไป เพราะท่ารำที่ตีออกมานั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้รำว่าบทอย่างนี้จะตีท่าอย่างไร   ท่ารำที่ค่อนข้างจะแน่นอนว่าเป็นแบบแผนมาแต่เดิมอันเป็นที่ยอมรับของผู้รำโนราจะต้องมีพื้นฐานเบื้องต้น ดังนี้


กลิ่น คงเหมือนเพชร (๒๕๔๒)

                 การทรงตัวของผู้รำ ผู้ที่จะรำโนราได้สวยงามและมีส่วนถูกต้องอยู่มากนั้น จะต้องมีพื้นฐานการทรงตัว ดังนี้
- ช่วงลำตัว จะต้องแอ่นอกอยู่เสมอ หลังจะต้องแอ่นและลำตัวยื่นไปข้างหน้า ไม่ว่าจะรำท่าไหน หลังจะต้องมีพื้นฐานการวางตัวแบบนี้เสมอ
- ช่วงวงหน้า วงหน้าหมายถึงส่วนลำคอจนถึงศีรษะ จะต้องเชิดหน้าหรือแหงนขึ้นเล็กน้อยในขณะรำ
- การย่อตัว การย่อตัวเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การรำโนรานั้นลำตัวหรือทุกส่วนจะต้องย่อลงเล็กน้อย นอกจากย่อลำตัว       แล้วเข่าก็จะต้องย่อลงด้วย
- ส่วนก้น จะต้องงอนเล็กน้อย ช่วงสะเอวจะต้องหัก จึงจะทำให้แลดูแล้วสวยงาม


ภาพโนราจากอินเทอร์เน็ต ๒๕๕๐

                 การเคลื่อนไหว นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่าง เพราะการรำโนราจะดีได้นั้น ในขณะที่เคลื่อนไหวลำตัว หรือจะเคลื่อนไหวส่วนใดส่วนหนึ่งก็ดี เช่น การเดินรำ ถ้าหากส่วนเท้าเคลื่อนไหว ช่วงลำตัวจะต้องนิ่ง ส่วนบนมือและวงหน้าจะไปตามลีลาท่ารำ ท่ารำโนราที่ถือว่าเป็นแม่ท่ามาแต่เดิมนั้นคือ " ท่าสิบสอง


ภาพโนราจากอินเทอร์เน็ต ๒๕๔๗

                 ท่าสิบสอง โนราแต่ละคนแต่ละคณะอาจจะมีท่ารำไม่เหมือนกัน ซึ่งอาจจะได้รับการสอนถ่ายทอดมาไม่เหมือนกัน   (ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ) บางตำนานบอกว่ามีท่ากนก ท่าเครือวัลย์ ท่าฉากน้อย ท่าแมงมุมชักใย ท่าเขาควาย  บางตำนานบอกว่ามีท่ายืนประนมมือ ท่าจีบไว้ข้าง ท่าจีบไว้เพียงสะเอว ท่าจีบไว้เพียงบ่า ท่าจีบไว้ข้างหลัง ท่าจีบไว้เสมอหน้า   อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสันนิษฐานกันว่าท่าพื้นฐานของโนราน่าจะมีมากกว่านี้ สังเกตได้จากท่าพื้นฐานในบทประถม   ซึ่งถือกันว่าเป็นแม่บทของโนรา จึงไม่สามารถระบุลงไปได้ว่าท่ารำพื้นฐานมีท่าอะไรบ้าง


ภาพโนราจากอินเทอร์เน็ต ๒๕๕๐

                 ท่ารำบทครูสอน เป็นท่าประกอบคำสอนของครูโนรา เช่น สอนให้ตั้งวงแขน เยื้องขาหรือเท้า สอนให้รู้จักสวมเทริด    สอนให้รู้จักนุ่งผ้าแบบโนรา ท่ารำในบทครูสอนนี้นับเป็นท่าเบื้องต้นที่สอนให้รู้จักการแต่งกายแบบโนรา หรือมีท่าประกอบการแต่งกาย เช่น
- ท่าเสดื้องกรต่อง่า เป็นการสอนให้รู้จักการกรายแขน หรือยื่นมือรำนั่นเอง
- ท่าครูสอนให้ผูกผ้า เป็นการสอนให้นุ่งผ้าแบบโนรา เวลานุ่งนั้นต้องมีเชือกคอยผูกสะเอวด้วย
- ท่าสอนให้ทรงกำไล คือสอนให้ผู้ที่จะเริ่มฝึกรำโนรา รู้จักสวมกำไลทั้งมือซ้ายและมือขวา
- ท่าสอนให้ครอบเทริดน้อย คือสอนให้รู้จักสวมเทริด การครอบเทริดน้อยนั้นจะเปรียบแล้วก็เหมือนกับการบวชสามเณร ส่วนการครอบเทริดใหญ่หรือพิธีครอบครูเปรียบเหมือนการอุปสมบทเป็นพระ  ซึ่งการครอบเทริดน้อยจะไม่มีพิธีรีตองอะไรมากนัก
- ท่าจับสร้อยพวงมาลัย คือท่าที่สอนให้รู้จักเอามือทำเป็นพวงดอกไม้หรือช่อดอกไม้
- ท่าเสดื้องเยื้องข้างซ้าย-ขวา ทั้งสองท่านี้เป็นท่าที่สอนให้รู้จักการกรายขาทั้งข้างซ้ายและข้างขวา
- ท่าถีบพนัก คือท่ารำที่เอาเท้าข้างหนึ่งถีบพนัก ( ที่สำหรับนั่งรำ ) แล้วเอามือรำ


ภาพโนราจากอินเทอร์เน็ต ๒๕๕๐

                 ท่ารำยั่วทับ หรือ รำเพลงทับ เป็นการรำหยอกล้อกันระหว่างคนตีทับกับคนรำ โดยคนรำจะรำยั่วให้คนตีทับหลงใหลในท่ารำ เป็นท่ารำที่แอบแฝงไว้ด้วยความสนุกสนานและตื่นเต้น โดยผู้รำจะใช้ท่ารำที่พิสดาร เช่น ท่าม้วนหน้า ม้วนหลัง ท่าหกคะเมนตีลังกา ซึ่งก็แล้วแต่ความสามารถของผู้รำที่จะประดิษฐ์ท่ารำขึ้นมา เพราะท่ารำไม่ได้ตายตัวแน่นอน เครื่องดนตรีจะเน้นเสียงทับเป็นสำคัญ


ภาพโนรารำขอเทริดโนราศรียาภัย

                 ท่ารำรับเทริด หรือ รำขอเทริด เป็นการรำเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด เพราะการรำรับเทริดนิยมรำหลังจากมีการรำเฆี่ยนพรายหรือรำเหยียบลูกมะนาวเสร็จแล้ว เพราะการรำเฆี่ยนพรายหรือรำเหยียบลูกมะนาวเป็นการรำที่ต้องใช้คาถาอาคม ผู้ชมจะชมด้วยความตื่นตะลึงและอารมณ์เครียดตลอดเวลาที่ชม แต่การรำขอเทริดเป็นการรำสนุก ๆ หยอกล้อกันระหว่างคนถือเทริดหรือตัวตลกกับคนขอเทริดคือโนราใหญ่ที่ต้องรำด้วยลีลาท่าที่สวยงาม นอกจากมีท่ารำแล้ว ยังมีคำพูดสอดแทรกโต้ตอบกันด้วย การรำขอเทริดนี้ตัวตลกจะเดินรำถือเทริดออกมาก่อน แล้วคนขอจะรำตามหลังออกมาโดยคนขอยังไม่ได้สวมเทริด การรำขอเทริดจะใช้เวลารำประมาณ ๓๐-๔๕ นาที

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น