วันพุธที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2557

ภาพและความหมายจิตรกรรมภาพโนราบนฝาผนังอุโบสถวัด

ภาพและความหมายจิตรกรรมภาพโนราบนฝาผนังอุโบสถวัด 

ภาพจิตรกรรมเปรตรำโนราบนฝาผนังในอุโบสถ
วัดสุวรรณคีรี  จังหวัดสงขลา
                  ภาพเปรตรำโนราคือหลักฐานทางโบราณคดีเป็นภาพภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดสุวรรณคีรี จังหวัดสงขลา ภาพส่วนหนึ่งแสดงถึงไตรภูมิอันประกอบด้วยสวรรค์ โลกมนุษย์  และภาพของพระมาลัยโปรดสัตว์ในนรก โดยมีภาพเปรตอารมณ์ดีสวมเทริดยกแขนร่ายรำโนรา ซึ่งเป็นภาพเพียงส่วนหนึ่งที่ยังคงเหลือเพียงพอต่อการบอกเล่าความนิคมโนราของคนยุคสมัยที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี สันนิษฐานได้ว่าภาพเปรตรำโนราน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยสร้างอุโบสถวัดสุวรรณคีรีซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายต่อมาได้มีการบูรณะให้เป็นวัดประจำเมืองสงขลา พุทธศักราช ๒๓๗๙  เป็นวัดที่ใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการเมืองสงขลา ก่อนจะย้ายเมืองมายังฝั่งบ่อยางและมีวัดมัชฌิมาวาสที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์แทนวัดสุวรรณคีรีในช่วงต่อมา (นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว, ๒๕๔๕)

ภาพจิตรกรรมโนราโรงครูบนฝาผนังในอุโบสถ
วัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา
                    ภาพจิตรกรรมโนราโณงครูบนฝาผนังในอุโบสถวัดมัชฌิมาวาส จังหวัดสงขลา วัดเก่าใจกลางเมืองสงขลา  เป็นภาพเขียนสีฝุ่น อยู่ในบริเวณ อุโบสถวัดกลาง หรือวัดมัชฌิมาวาส  เป็นภาพเขียนประกอบฝาผนังเกี่ยวกับ พุทธประวัติ เรื่อง พระมหาชนก ตอนราชาภิเษก พระมหาชนกกับพระสิมพลี ซึ่งเป็นภาพเขียนสมัยรัชกาลที่ ๔  ประมาณ พุทธศักราช ๒๔๐๖  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในภาพจะมีมหรสพต่าง ๆ ที่มาร่วมแสดง สมโภชในงานราชาภิเษก เช่น หุ่นหลวง วงปี่พาทย์ และโนรา  ภาพโนราเป็นการรำของนายโรงโนรา ซึ่งถือพระขรรค์ มาร่ายรำและแสดงเรื่องราวต่าง ๆ เพราะในรูปภาพ โนราแสดงท่ารำประกอบกับนายพราน ซึ่งถือดาบยื่นให้โนรา ผู้แสดงโนรา  ยังคงแต่งกายแบบโบราณคือ สวมเทริด, เล็บ, กำไลต้นแขนปลายแขน สวมสังวาล, ทับทรวง มีเครื่องประดับ เป็นผ้าพาดไหล่ขวา นุ่งผ้าทับสนับเพลาคาดผ้าห้อยหน้าห้อยข้างสีน้ำตาลอ่อนและเข้ม มีนักดนตรี นั่งล้อมรอบอยู่ในโรงโนรา เป็นนักดนตรีตีทับและตีกลองอย่างละ ๒ คน  พร้อมกับมีปี่บรรเลงประกอบ ผู้ชมยืนล้อมรอบโรงโนราอย่างแน่นขนัด บริเวณด้านทิศเหนือของโรงโนรามีฝรั่งชายหญิงและลูกแต่งกายอย่างสวยงามพร้อมกางร่ม มายืนดูโนรา นอกจากนี้บริเวณติดกับโรงโนราจะมีชายหญิงชาวจีนมายืน ด้วยเช่นกัน ภาพดังกล่าว จะสื่อถึงขนบธรรมเนียมการชม การแสดงโนราในอดีตได้อย่างชัดเจน (ธรรมนิตย์  นิคมรัตน์, ๒๕๕๕)

ภาพจิตรกรรมโนราชายหญิงบนฝาผนังในอุโบสถ
วัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี
                   ภาพจิตรกรรมโนราชายหญิงบนฝาผนังในอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม จังหวัดเพชรบุรี เป็นภาพงานพระเมรุพระพุทธเจ้า มีภาพมหรสพหลายชนิด เช่น โขน ต่อยมวย ไต่ลวด และโนรา โดยในภาพจะมีโนราหญิงชายกำลังร่ายรำ พร้อมกับสวมเทริด สวมหาง เล็บงอน มีกำไรรัดข้อมือและต้นแขน ฝ่ายหญิงเปลือยอก แต่ดูโดยรวมแล้วก็เหมือนกับการแต่งการของโนราในปัจจุบัน ภาพนี้ชี้ให้เห็นว่าอย่างน้อยในสมัยอยุธยาตอนปลาย โนราก็เคยแพร่หลายออกนอกพื้นที่ภาคใต้โดยแพร่หลายมาถึงจังหวัดเพชรบุรี เป็นภาพจิตรกรรมถูกวาดขึ้นตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๒๗๗ ในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา (นิพัทธ์พร  เพ็งแก้ว, ๒๕๔๕)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น